วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

กิจกรรมสนทนากลุ่ม (focus group) การจัดการขยะของเยาวชนท่าสาป

วันจันทร์ ที่ 27 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานโครงการสะพานระดับพื้นที่ตำบลท่าสาป โครงการ เยาวชนท่าสาปร่วมใจไร้ถังขยะโดยมี นายอัดลัน ดอเลาะ หัวหน้าโครงการ และคณะ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายชานนท์ สาและ ปลัดเทศบาลตำบลท่าสาป ดร.ตายูดิน อุสมาน คณะทำงานโครงการสะพานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เจ้าหน้าที่โครงการ ผู้นำท้องที่ ผอ.รพ.สต. ครู และเยาวชน รวม 20 ท่าน
หัวหน้าโครงการได้เสนอรูปแบบการจัดการขยะไร้ถังขยะ และสืบเนื่องจากนโยบายผู้บริหารเทศบาลตำบลท่าสาป ปี 2555 ด้วย เพราะจริงๆ แล้วขยะเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมด ขยะแบ่งเป็นหลายประเภท ดังนี้ 1) ขยะย่อยสลาย 2) ขยะริไซเคิล 3) ขยะทั่วไป 4) ขยะอันตราย  http://www.environnet.in.th/?p=3511 สำหรับรูปแบบการจัดการขยะของเยาวชนท่าสาป มีขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอน 1 เริ่มจากครอบครัวเป็นสำคัญ สร้างจิตสำนึก คัดแยกขยะ และให้นักเรียนนำขยะที่ได้จากคัดแยกมาฝากที่ธนาคารขยะ ขั้นตอน 2 มีธนาคารขยะที่โรงเรียนรับฝากทุกวันจันทร์ ก่อนเวลา 08.00 น. ขั้นตอน 3 การจัดการขยะ โดยนำขยะที่มีมูลค่าขายให้กับโรงงานรับซื้อของเก่า ขั้นตอนสุดท้าย รายได้ที่ได้จากการขายขยะจะเป็นทุนการศึกษา ทุนผู้สูงอายุ และพัฒนาหมู่บ้าน เป็นต้น
ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะดังนี้ 1) เป็นงานที่ใหญ่ ท้าทาย ขอให้มีความอดทน และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 2) รณรงค์ ปลูกฝัง สร้างจิตสำนึกจากครอบครัวเป็นลำดับแรก 3) คิดสิ่งประดิษฐ์แปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การตลาด และเพิ่มรายได้ 4) ประกวดบ้านสะอาด มอบเกียรติบัตรเป็นที่ยกย่อง (ภาพกิจกรรมเพิ่มเติม)      

    

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

เจ้าหน้าที่โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตยพบปะพูดคุย

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตยพบปะพูดคุย และเยี่ยมสำนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ (อาคาร 20) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมด้วย ดร.ศิริชัยนามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และดร.ตายูดิน อุสมาน ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นการบริหารจัดการโครงการกับเจ้าหน้าที่โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย โดยมี คุณจอน (Mr. john Go) ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย เข้าร่วมในครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเสนอแนะต่อโครงการสะพานจากส่วนกลาง มีดังนี้ 1) อยากให้เกิดองค์ความรู้ภายในชุมชน 2) กระบวนการทำงานโครงการที่ไม่ซับซ้อน 3) ความต่อเนื่อง มีระบบ และยั่งยืน 4) เป้าหมายชัดเจน 5) ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างยุทธศาสตร์ร่วมกัน 6) เป็นชุมชนต้นแบบ และสามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ 7) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาพร้อมที่ให้ความร่วมมือกับโครงการสะพานในทุกๆ ด้า... (รายละเอียดเพิ่มเติมและภาพประกอบ)      

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

สร้างความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของงบประมาณเทศบาลตำบลท่าสาป

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานโครงการสะพานระดับพื้นที่ตำบลท่าสาป จัดประชุมชี้แจงและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการสะพานที่จะดำเนินการ การเรียนรู้งบประมาณเทศบาลตำบลท่าสาป โดยมี นายอายุ กาซอ หัวหน้าโครงการ และคณะทำงาน อธิบายในประเด็นที่จะศึกษากับผู้บริหาร และขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทางนายกเทศมนตรีตำบลท่าสาป อธิบายข้อมูลเบื้องต้นว่า ที่มาของเทศบัญญัติ ประการแรกคือ กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาสามปี โดยผ่านประชาคมกับประชาชน ประการที่สอง คณะกรรมการพิจารณาแผนเพื่อสนับสนุน ประการที่สาม ผ่านสภาเพื่อลงมติที่ประชุม สำหรับงบประมาณต่างๆ ของเทศบาลตำบลท่าสาปได้จากงบสนับสนุน งบเฉพาะกิจ งบอุดหนุน ภาษีต่างๆ รายได้ สำหรับงบอุดหนุนเฉพาะกิจสามารถดำเนินการได้เลย และการเสนอโครงการต่างๆ ต้องส่งโครงการก่อนเดือน มิถุนายน ของทุกปี
สรุปประเด็นที่ประชุม มีดังนี้ 1) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 2) ประชาชนทราบถึงข้อจำกัดในการดำเนินโครงการต่างๆ สาเหตุอะไรที่ไม่สามารถดำเนินโครงการ 3) สร้างความเข้าใจระหว่างเทศบาลกับประชาชน 4) ผู้บริหารที่ดี มีความสามารถ เก่ง มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีเครือข่าย และสามารถบริหารจัดการองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการสะพานระดับพื้นที่จะขอสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ดังนี้ 1) นายกเทศมนตรี 2) รองนายกเทศมนตรี 3) หัวหน้าสำนักปลัด 4) หัวหน้ากองคลัง 5) หัวหน้าการศึกษา 6) หัวหน้าการช่าง 7) เจ้าหน้าที่งบประมาณ 8) เจ้าหน้าที่วิเคราะห์แผนและนโยบาย ข้อมูลที่ได้มาทางโครงการจะเสนอข้อมูลให้เป็นกลางมากที่สุด ไม่เกิดผลกระทบต่อหน่วยงาน และจะเกิดประโยชน์ต่อเทศบาลตำบลท่าสาปต่อไป (ดูภาพกิจกรรมเพิ่มเติม)

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

สร้างความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของงบประมาณ อบต.พร่อน

 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา คณะทำงานโครงการสะพานระดับพื้นที่ตำบลพร่อน จัดประชุมสร้างความเข้าใจในวัตถุประสงค์กับผู้บริหาร สมาชิก และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้อธิบายเกี่ยวกับโครงการการเรียนรู้งบประมาณองค์การบริหารส่วนตำบลพร่อน โดยมี นาย รุสดี  ยูโซ๊ะ เป็นหัวหน้าโครงการการเรียนรู้งบประมาณฯประเด็นที่ศึกษา มีดังนี้ 1) ศึกษาเรียนรู้กฎระเบียบของ อบต. 2) ศึกษาเรียนรู้ที่มาที่ไป รายรับ - รายจ่าย 3) ศึกษากระบวนการจัดทำแผนข้อบัญญัติประจำปี 4) ศึกษาผลสัมฤทธิ์กิจกรรมตามพัฒนารอบปี และ 5) รายงานผลการเรียนรู้ต่อสาธารณะเพื่อทราบข้อมูลข้อเท็จจริง

ที่ประชุมให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) โครงการสะพานระดับพื้นที่กับองค์การบริหารส่วนตำบลเดินคู่ขนานกัน 2) เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนร่วมมือแก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในชุมชน 3) การเสนอข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ โครงการสะพานควรเสนอข้อมูลที่เป็นกลาง ไม่สร้างข้อมูลที่เป็นลบกับหน่วยงาน (ดูภาพเพิ่มเติม)   

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

รายงานความก้าวหน้าโครงการสะพานระดับพื้นที่ตำบลท่าสาปและตำบลพร่อน

โดยมีโครงการจาก 2 พื้นที่ ดังนี้ ตำบลท่าสาป  1) โครงการเยาวชนท่าสาปร่วมใจไร้ถังขยะ การขับเคลื่อนโครงการได้ดำเนินการจัดเวทีประชุมชี้แจงกิจกรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนรับทราบ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะของชุมชน ขั้นตอนต่อไปศึกษาข้อมูลการจัดการขยะของเทศบาลตำบลท่าสาป ตลอดจนนำสู่การจัดรูปแบบการจัดการขยะแบบไร้ถังขยะ.....

วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

เวทีประชุมสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมตำบลพร่อน

บรรยกาศเวทีสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมโรงเรียนบ้านพร่อน คณะทำงานโครงการสะพานระดับพื้นที่ตำบลพร่อน โดยมี นายดอเล๊าะอาลี  สาแม ประธานคณะทำงานโครงการสะพานระดับพื้นที่ ได้มีการจัดเวทีสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยมี ประชาชน อบต. รพ.สต. ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ตัวแทนจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา และคณะทำงานโครงการสะพานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาร่วมสังเกตการณ์ 

ประเด็นปัญหาของประชาชนของตำบลพร่อน คือ ปัญหาน้ำ  ฝุ่น ขยะ  กลิ่นเหม็น เสียง และอากาศ 
ทุกปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบในการแก้ปัญหา โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้ 1) โรงงานในพื้นที่ควรตรวจสอบทำความสะอาดเครื่องยนต์อย่างต่อเนื่อง และทำการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ 2) ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเก็บตัวอย่างน้ำที่เกิดปัญหา 3) ให้ผู้ป่วยตรวจโรคว่าเกิดจากสารชนิดใด เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง 4) ทำข้อตกลงกับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ และร่างข้อบัญญัติบังคับใช้กับโรงงานอุตสาหกรรม 5) หามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง (ภาพประกอบเพิ่มเติม)    

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

สร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่

ประชุมสร้างความเข้าใจในวัตถุประสงค์กับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ตำบลพร่อนและผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 ณ ห้องประชุม อบต.พร่อน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะทำงานโครงการสะพานระดับพื้นที่ตำบลพร่อน คณะทำงานโครงการสะพานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา บริษัท เอเซียพลายวู้ด จำกัด  บริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน จำกัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพร่อน
ประเด็นเพื่อพิจารณาแก้ปัญหาร่วมกัน
ประเด็นที่ 1 ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมในชุมชน ทำให้เกิดปัญหากับประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงงานอุตสาหกรรม เช่น มลภาวะทางเสียง อากาศ น้ำ และโรคต่างๆ นำไปสู่ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในชุมชน
ประเด็นที่ 2 แนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ บริษัทที่อยู่ในชุมชน และประชาชน เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมกับประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ประเด็นที่ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมรับการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ข้อเสนอแนะ
อาจารย์รอซีดี  เลิศอริยะพงษ์กุล ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรจัดทำแผนที่ทางเดินน้ำ เส้นทางน้ำที่ผ่านมีโรงงานอะไรบ้าง และมีพื้นที่ทำนาที่ไหนบ้าง แต่ละโรงงานมีการบำบัดน้ำเสียอย่างไร และปล่อยน้ำงทางไหน มีการเก็บตัวอย่างน้ำหรือไหมอย่างไร เพื่อมาวิเคราะห์และดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป
อาจารย์พงษ์พันธ์  ชัยเศษรฐสัมพันธ์ ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า เวทีคืนข้อมูลเป็นเวที่สำคัญ ต้องเป็นข้อมูลที่เป็นจริง และเป็นกลาง สามารถสร้างความเข้าใจกับประชาชนได้เป็นอย่างดี (ภาพเพิ่มเติม)

วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2557


เมื่อวันที่ 17 - 18 ธ.ค. 56 ที่ผ่านมา ทางโครงการสะพานฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 3 ได้จัดอบรมเครื่องมือธรรมาภิบาล ณ ห้องกระยาทิพย์ โรงแรมปาร์ควิวยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ หัวหน้าโครงการ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการ ดร.ตายูดิน อุสมาน อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ อ.รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล คุณกริยา ตระกูลศึกษา คุณกัญญา จันทร์พิศาล (พัฒนาการอำเภอเมืองยะลา) และเจ้าหน้าที่โครงการฯ ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมเป็นคณะทำงานระดับพื้นที่ตำบลท่าสาปและตำบลพร่อนที่เสนอโครงการต่อโครงการสะพานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จำนวนผู้เข้าร่วม 30 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะทำงานระดับพื้นที่สามารถนำเครื่องมือไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่และสามารถเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนโครงการต่อไป
วันแรกการบรรยายเชิงวิชาการ
เจ้าหน้าที่พัฒนาโครงการสะพานจากส่วนกลาง (สงขลา) ให้ข้อมูลเบื้องต้นและภาพรวมของการใช้เครื่องมือ และการใช้เครื่องมือตรวจสอบสังคม โดย คุณสุจินตนา เหมตะศิลป เจ้าหน้าที่พัฒนาโครงการ วิทยากรท่านที่ 2 คือ คุณสุภาภรณ์ ครุฑเมือง เจ้าหน้าที่โครงการสะพาน นำเสนอเรื่องการติดตามงบประมาณและการอ่านงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล การทำแผนงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อเป็นแนวทาง วิธิการ และขั้นตอนต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งต้องเรียนรู้เชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติควบคู่กันไป ในส่วนการเรียนรู้งบประมาณ เจ้าหน้าที่พัฒนาโครงการเสนอแนะให้เรียนรู้งบประมาณ ปี 57 เช่น โครงการขององค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการอย่างไร การใช้งบประมาณเป็นไปตามแผนยุทธศาตร์หรือไม่ ซึ่งเป็นการเรียนรู้งบประมาณไม่ได้ไปจับผิดการบริหารจัดขององค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ

วันที่สองเป็นการเล่าถึงประสบการณ์การนำเครื่องมือที่ประสบความสำเร็จ
          ภาคเช้า เล่าถึงประสบการณ์การนำเครื่องมือบัตรคะแนนศักยภาพชุมชน (Scorecard) ไปใช้ในพื้นที่ โดยคุณกริยา ตระกูลศึกษา และคุณพงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้
          1. ประสบการณ์นอกพื้นที่ (จ.สุโขทัย) : 2554 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
          2. ประสบการณ์ในพื้นที่ (จ.ยะลา) : 2554 โรงเรียนเทศบาล 5 ตลาดเก่า เทศบาลนครยะลา
โรงเรียนบ้านตาสา ต.พร่อน อ.เมือง ยะลา โรงเรียนบ้านตะโละหะลอ อ.รามัน อ.เมือง ยะลา
          3. ประสบการณ์ในพื้นที่ (จชต.) : 2555 โรงเรียนดำรงวิทยา อ.บันนังสตา จ.ยะลา โรงเรียนเมาะมาวี อ.ยะรัง ปัตตานี และโรงเรียนบ้านปะลุรู หมู่ 3 ปะลูรู อ.สุไหงปาดีนราธิวาส
     การเล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านนี้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เห็นภาพตัวอย่างการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้มาพบปะพูดคุยกับคณะทำงานระดับพื้นที่ และให้กำลังใจในการดำเนินโครงการได้อย่างราบรื่น ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาพร้อมให้ความร่วมมือทางวิชาการกับพื้นที่ตำบลท่าสาปและตำบลพร่อน เพื่อการยกระดับการศึกษา การพัฒนาศักยภาพชุมชน และการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น
                ในส่วนภาคบ่าย ชี้แจงงบประมาณและระเบียบการเงิน โดย นางสาวพารีซัน หะ เจ้าหน้าที่การเงินโครงการสะพานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ทำสัญญาโครงการรับเหมาช่วงเงินดำเนินกิจกรรม และมอบเงินโครงการให้กับผู้รับเหมาช่วงเพื่อการดำเนินงานโครงการต่อไป (ดูภาพกิจกรรมเพิ่มเติม)