วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของทีมคณะทำงานระดับพื้นที่

กล่าวเปิดกิจกรรม โดย ดร.ตายูดิน อุสมาน
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. - 1 ธ.ค. 56 ทางโครงการสะพานฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 3 ได้จัดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของทีมคณะทำงานระดับพื้นที่ คือ ตำบลท่าสาป และตำบลพร่อน ณ ลีลารีสอร์ท ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จำนวนผู้เข้าร่วม 40 คน และทีมงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 15 คน รวมเป็น 55 คน เพื่อให้การทำงานเป็นทีมและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ นำโดย ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการ ดร.ศิริชัย นามบุรี ดร.ตายูดิน อุสมาน อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ อ.รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล ร.ต.ต.กริยา ตระกูลศึกษา นายดอเล๊าะอาลี สาแม และเจ้าหน้าที่โครงการฯ

กิจกรรมวันแรก คือ กิจกรรมละลายพฤติกรรมสู่พลังพลเมือง 
ฐานที่ 1 หอคอยกระดาษ
สิ่งที่ได้จากฐานที่ 1 คือ 1. ทุกครั้งก่อนลงมือทำต้องมีการวางแผน 2. ร่วมมือร่วมใจกัน 3. มีความสามัคคี 4. เคารพข้อตกลงของกลุ่ม 5. แบ่งหน้าที่ 6. ต้องทำความเข้าใจในทีม 7. ต้องมีสมาธิ
ฐานที่ 2 สื่อรักสัมผัสหัวใจ
สิ่งที่ได้จากฐานที่ 2 คือ 1. ความร่วมมือ 2. ความตั้งใจ มีสติ 3. สามัคคี สมาธิ ต้องใช้จิต 4. การสร้างความมุ่งมั่นในทีม
ฐานที่ 3 ความลับในเขต 3
สิ่งที่ได้จากฐานที่ 3 คือ 1. ต้องมีความชัดเจนในการสื่อสาร 2. แม่นยำในการประสานงาน 3. ก่อนที่ให้สารผู้อื่น ต้องวิเคราะห์ข้อมูลว่าเป็นจริงหรือเท็จก่อน
ฐานที่ 4 ประติมากรรมมนุษย์
สิ่งที่ได้จากฐานที่ 4 คือ 1. ทุกอย่างย่อมสัมพันธ์กัน 2. ไม่ยึดติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด 3. ทุกคนต้องมีส่วนร่วม 4. ทุกคนมีความสำคัญกันหมด 5. ต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ภาคกลางคืน มีการแสดงละครของแต่ละกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มได้แสดงศักยภาพของกลุ่ม สร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมและเพื่อการทำงานเป็นทีม รู้จักความสามัคคี ทุกๆ กิจกรรมที่ดำเนินการในวันแรกได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างดี
กิจกรรมวันที่สอง เป็นกิจกรรมด้านวิชาการ ในหัวข้อเรื่อง การเรียนรู้เครื่องมือเสริมสร้างความเป็นพลเมือง โดย ดร.ตายูดิน อุสมาน เป็นการสร้างความเข้าใจในเครื่องมือที่จะใช้และการขับเคลื่อนในการดำเนินการโครงการ และหัวข้อเรื่อง กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พลังพลเมืองสู่พื้นที่สันติสุขอย่างยั่งยืน โดย อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ ในส่วนของภาคบ่าย เกี่ยวกับกระบวนเรียนรู้ ให้ผู้เข้าร่วมรวมกลุ่มคิดต่อจากนี้จะดำเนินกิจกรรมของโครงการอย่างไร ความท้าทาย อุปสรรค และความเป็นไปได้ของโครงการ  กิจกรรมทั้ง 2 วันเป็นการสร้างทีมงาน สร้างเครือข่ายระหว่าง 2 ตำบล เก็บเกี่ยวความรู้ หลักการทำงาน และประสบการณ์นำไปประยุกต์ใช้กับโครงการที่จะดำเนินการต่อไป (ดูภาพกิจกรรมเพิ่มเติม)

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการสะพานฯ พิจารณาโครงการที่เสนอโดยพื้นที่เป้าหมาย ปี 2556

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 เวลา 09.00 - 12.00 น.   ณ ห้องประชุมสภา ชั้น 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โครงการสะพานฯ ประชุมที่ปรึกษา ประกอบด้วย ผศ.ดร.สมบัติ  โยธาทิพย์ (อธิการบดี) นายเดชรัฐ  สิมศิริ (ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา) นายวิชัย  เรืองเริงกุลฤทธิ์ (ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดยะลา) ดร.ณพพงศ์  ธีระวร (ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา) นายมะรอบี ดือเร๊ะ (นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพร่อน) นายมะสดี หะยีปิ (นายกเทศมนตรีตำบลท่าสาป) นายกริยา ตระกูลศึกษา (กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดประจำจังหวัดยะลา) ตัวแทนพัฒนาการอำเภอเมืองยะลา และคณะทำงานโครงการสะพานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประกอบด้วย ดร.บุญสิทธิ์         ไชยชนะ ดร.ศิริชัย นามบุรี ดร.ตายูดิน อุสมาน อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ อ.มะเสาวดี ไสสากา
เพื่อพิจารณาโครงการต่างๆ ที่ชุมชนเสนอ รวมทั้งหมด 6 โครงการใน 2 พื้นที่ ดังนี้ ตำบลท่าสาป 1) การศึกษา เรื่องประเมินศักยภาพการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านพร่อนและโรงเรียนบ้านจาหนัน ตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 2) สิ่งแวดล้อมชุมชน เรื่องสร้างความเป็นพลเมืองและการป้องกันมลภาวะทางอากาศและน้ำชุมชนตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 3) การเรียนรู้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในส่วนตำบลพร่อน มีดังนี้ 1) การจัดการขยะในชุมชนตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 2) ความพึงพอใจของการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 3) การเรียนรู้งบประมาณของเทศบาลตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบในทุกโครงการ โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ปรับรายละเอียดโครงการตามข้อเสนอแนะคณะที่ปรึกษา และคณะทำงานของโครงการสะพาน เช่น ชื่อโครงการ เนื้อหา ประเด็นการทำงาน 2) ปรับกรอบรายละเอียดด้านการเงินตามข้อกำหนดของโครงการสะพาน ขั้นตอนต่อไปคือ การเชิญชุมชนที่เสนอโครงการมาปรับแก้ข้อเสนอโครงการเพื่อพิจารณาอนุมัติทุนสนับสนุนการดำเนินงานต่อไป  (ดูภาพเพิ่มเติม)


วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชุมพูดคุยโครงการสะพานฯ




บรรยกาศการประชุมพูดคุย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา
พูดคุยกิจกรรมที่จะดำเนินการในพื้นที่ตำบลท่าสาป และตำบลพร่อน 
สรุปประเด็นสำคัญ คือ
         - ทีมคณะทำงานโครงการส่วนกลาง (สงขลา) สอบถามรายละเอียดของกิจกรรมที่จะดำเนินการในพื้นที่
         - คณะทำงานในพื้นที่ นำเสนอประเด็นที่ได้จากเวทีประชาคม 6 โครงการ เพื่อจัดทำโครงการเสนอต่อโครงการสะพาน
         - ทางทีมคณะทำงานโครงการส่วนกลางเห็นด้วยกับโครงการ คือ โครงการจัดการขยะ การเรียนรู้งบประมาณของ อบต. ความพึงพอใจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล การประเมินศักยภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน แต่ไม่เห็นด้วยกับโครงการสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นปัญหาระดับประเทศ อาจไม่บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งมีข้อจำกัดด้วยเวลาเพียง 4 เดือน (ดูภาพเพิ่มเติม)

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานและบทบาทหน้าที่ โครงการสะพานฯ ปี 3


บรรยกาศการประชุมติดตามการดำเนินงานและทบทวนกิจกรรมของคณะกรรมการประสานโครงการสะพานฯ ภาคใต้  เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 พฤศจิกายน 2556  เวลา  09.00-12.00 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะทำงานในพื้นที่ (DIT: District Implement Team) ตำบลท่าสาป และตำบลพร่อน และร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางและกิจกรรมของโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย ปีที่ 3 (2556) ที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่ทั้ง 2 ตำบล 

 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทุกมหาวิทยาลัยเครือข่าย  (รายละเอียดและภาพเพิ่มเติม)


สรุปประเด็นปัญหาตำบลท่าสาป

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่าน ทางคณะทำงานในพื้นที่ตำบลท่าสาป ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการสะพานฯ และคณะทำงาน (DIT : District Implementation team) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประชุมเพื่อสรุปประเด็นปัญหาที่ได้จากเวทีคัดเลือกประเด็นทั้ง 5 ประเด็น ที่ผ่านมา และสรุปให้เหลือเพียง 3 ประเด็นเท่านั้น จากที่ประชุมมีมติสรุปประเด็นปัญหาตำบลท่าสาป มีดังนี้
      1. เยาวชน คือ การจัดการขยะของเทศบาลตำบลท่าสาป
      2. ภาคพลเมือง คือ ความพึงพอใจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และการเรียนรู้งบประมาณ
      จากประเด็นข้างต้นนี้ เพื่อจัดทำโครงการสร้างพลังพลเมืองของตำบลท่าสาป เสนอต่อโครงการสะพานฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาต่อไป

บรรยกาศในการห้องประชุม

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เวทีคัดเลือกประเด็นปัญหา ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา

เมื่อวันพุธ ที่ 30 ต.ค.56 ทางคณะทำงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นำโดย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ หัวหน้าโครงการสะพานฯ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการสะพาน ดร.ศิริชัย นามบุรี ดร.ตายูดิน อุสมาน เจ้าหน้าที่โครงการ และคณะทำงานในพื้นที่ ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านท่าสาปตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพื่อร่วมรับฟังประเด็นปัญหาของพื้นที่ และจัดทำโครงการที่เกิดจากความต้องการที่แท้จริง นำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาของชุมชน

ผู้ดำเนินการประชุม อ.รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล แนะนำคณะทำงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะทำงานในพื้นที่ ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดเวทีคัดเลือกประเด็นปัญหา และวาระการประชุม



อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ อธิบายและทำความเข้าใจโครงการเสริมสร้างประชาธิปไตย ปี 3 กิจกรรมที่จะขับเคลื่อน และการเป็นพลเมืองของประชาชนภายใต้โครงการสร้างสำนึกพลเมืองเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลในท้องถิ่น และเรื่องแจงเพื่อทราบ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีนโยบายกิจกรรมลงสู่พื้นที่ตำบลพร่อน และท่าสาป เป็นพื้นที่นำร่องต่อการพัฒนาท้องถิ่น และเปิดหลักสูตรปริญญาเอก 2 สาขา คือ สาขาวิชา สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา และสาขาวิชา บริหารการศึกษา

อ.รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล นำเสนอถึงการบริการของหน่วยงานภาครัฐ ให้คณะทำงานเข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐต่อประชาชนเป็นอย่างไร ล่าช้าไหม และมีข้อจำกัดอะไรบ้าง เพื่อเสริมสร้างพลเมืองร่วมกัน อธิบายเครื่องมือที่จะทำโครงการให้เข้าใจ และการเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหา มีเครื่องมือดังนี้ บัตรคะแนนศักยภาพชุมชน การเรียนรู้งบประมาณ การติดตามงบประมาณ สัญญาใจพลเมือง และการตรวจสอบสังคม


จากการที่ได้สร้างความเข้าร่วมกันแล้ว แบ่งกลุ่ม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ประชาชน กลุ่มที่ 2 กลุ่มสตรี และกลุ่มที่ 3 เยาวชน ให้แต่ละกลุ่มถอดบทเรียน ปัญหาของตำบลที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา และนำเสนอกลุ่มของแตะละกลุ่ม

สรุปประเด็นปัญหาที่ได้รับจากการประชุม
        1. ความพึงพอใจของการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐต่อประชาชน
        2. การจัดการขยะภายในชุมชน
        3. บทบาทและหน้าที่ของสมาชิก อบต.
        4. การพัฒนาคุณภาพเยาวชนให้มีศักยภาพต่อการพัฒนาชุมชน
        5. การเรียนรู้งบประมาณ (ภาพประกอบเพิ่มเติม) และ (วิดีโอการนำเสนอของประชาชน)