วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของทีมคณะทำงานระดับพื้นที่

กล่าวเปิดกิจกรรม โดย ดร.ตายูดิน อุสมาน
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. - 1 ธ.ค. 56 ทางโครงการสะพานฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 3 ได้จัดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของทีมคณะทำงานระดับพื้นที่ คือ ตำบลท่าสาป และตำบลพร่อน ณ ลีลารีสอร์ท ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จำนวนผู้เข้าร่วม 40 คน และทีมงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 15 คน รวมเป็น 55 คน เพื่อให้การทำงานเป็นทีมและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ นำโดย ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการ ดร.ศิริชัย นามบุรี ดร.ตายูดิน อุสมาน อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ อ.รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล ร.ต.ต.กริยา ตระกูลศึกษา นายดอเล๊าะอาลี สาแม และเจ้าหน้าที่โครงการฯ

กิจกรรมวันแรก คือ กิจกรรมละลายพฤติกรรมสู่พลังพลเมือง 
ฐานที่ 1 หอคอยกระดาษ
สิ่งที่ได้จากฐานที่ 1 คือ 1. ทุกครั้งก่อนลงมือทำต้องมีการวางแผน 2. ร่วมมือร่วมใจกัน 3. มีความสามัคคี 4. เคารพข้อตกลงของกลุ่ม 5. แบ่งหน้าที่ 6. ต้องทำความเข้าใจในทีม 7. ต้องมีสมาธิ
ฐานที่ 2 สื่อรักสัมผัสหัวใจ
สิ่งที่ได้จากฐานที่ 2 คือ 1. ความร่วมมือ 2. ความตั้งใจ มีสติ 3. สามัคคี สมาธิ ต้องใช้จิต 4. การสร้างความมุ่งมั่นในทีม
ฐานที่ 3 ความลับในเขต 3
สิ่งที่ได้จากฐานที่ 3 คือ 1. ต้องมีความชัดเจนในการสื่อสาร 2. แม่นยำในการประสานงาน 3. ก่อนที่ให้สารผู้อื่น ต้องวิเคราะห์ข้อมูลว่าเป็นจริงหรือเท็จก่อน
ฐานที่ 4 ประติมากรรมมนุษย์
สิ่งที่ได้จากฐานที่ 4 คือ 1. ทุกอย่างย่อมสัมพันธ์กัน 2. ไม่ยึดติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด 3. ทุกคนต้องมีส่วนร่วม 4. ทุกคนมีความสำคัญกันหมด 5. ต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ภาคกลางคืน มีการแสดงละครของแต่ละกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มได้แสดงศักยภาพของกลุ่ม สร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมและเพื่อการทำงานเป็นทีม รู้จักความสามัคคี ทุกๆ กิจกรรมที่ดำเนินการในวันแรกได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างดี
กิจกรรมวันที่สอง เป็นกิจกรรมด้านวิชาการ ในหัวข้อเรื่อง การเรียนรู้เครื่องมือเสริมสร้างความเป็นพลเมือง โดย ดร.ตายูดิน อุสมาน เป็นการสร้างความเข้าใจในเครื่องมือที่จะใช้และการขับเคลื่อนในการดำเนินการโครงการ และหัวข้อเรื่อง กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พลังพลเมืองสู่พื้นที่สันติสุขอย่างยั่งยืน โดย อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ ในส่วนของภาคบ่าย เกี่ยวกับกระบวนเรียนรู้ ให้ผู้เข้าร่วมรวมกลุ่มคิดต่อจากนี้จะดำเนินกิจกรรมของโครงการอย่างไร ความท้าทาย อุปสรรค และความเป็นไปได้ของโครงการ  กิจกรรมทั้ง 2 วันเป็นการสร้างทีมงาน สร้างเครือข่ายระหว่าง 2 ตำบล เก็บเกี่ยวความรู้ หลักการทำงาน และประสบการณ์นำไปประยุกต์ใช้กับโครงการที่จะดำเนินการต่อไป (ดูภาพกิจกรรมเพิ่มเติม)

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการสะพานฯ พิจารณาโครงการที่เสนอโดยพื้นที่เป้าหมาย ปี 2556

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 เวลา 09.00 - 12.00 น.   ณ ห้องประชุมสภา ชั้น 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โครงการสะพานฯ ประชุมที่ปรึกษา ประกอบด้วย ผศ.ดร.สมบัติ  โยธาทิพย์ (อธิการบดี) นายเดชรัฐ  สิมศิริ (ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา) นายวิชัย  เรืองเริงกุลฤทธิ์ (ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดยะลา) ดร.ณพพงศ์  ธีระวร (ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา) นายมะรอบี ดือเร๊ะ (นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพร่อน) นายมะสดี หะยีปิ (นายกเทศมนตรีตำบลท่าสาป) นายกริยา ตระกูลศึกษา (กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดประจำจังหวัดยะลา) ตัวแทนพัฒนาการอำเภอเมืองยะลา และคณะทำงานโครงการสะพานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประกอบด้วย ดร.บุญสิทธิ์         ไชยชนะ ดร.ศิริชัย นามบุรี ดร.ตายูดิน อุสมาน อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ อ.มะเสาวดี ไสสากา
เพื่อพิจารณาโครงการต่างๆ ที่ชุมชนเสนอ รวมทั้งหมด 6 โครงการใน 2 พื้นที่ ดังนี้ ตำบลท่าสาป 1) การศึกษา เรื่องประเมินศักยภาพการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านพร่อนและโรงเรียนบ้านจาหนัน ตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 2) สิ่งแวดล้อมชุมชน เรื่องสร้างความเป็นพลเมืองและการป้องกันมลภาวะทางอากาศและน้ำชุมชนตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 3) การเรียนรู้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในส่วนตำบลพร่อน มีดังนี้ 1) การจัดการขยะในชุมชนตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 2) ความพึงพอใจของการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 3) การเรียนรู้งบประมาณของเทศบาลตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบในทุกโครงการ โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ปรับรายละเอียดโครงการตามข้อเสนอแนะคณะที่ปรึกษา และคณะทำงานของโครงการสะพาน เช่น ชื่อโครงการ เนื้อหา ประเด็นการทำงาน 2) ปรับกรอบรายละเอียดด้านการเงินตามข้อกำหนดของโครงการสะพาน ขั้นตอนต่อไปคือ การเชิญชุมชนที่เสนอโครงการมาปรับแก้ข้อเสนอโครงการเพื่อพิจารณาอนุมัติทุนสนับสนุนการดำเนินงานต่อไป  (ดูภาพเพิ่มเติม)


วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชุมพูดคุยโครงการสะพานฯ




บรรยกาศการประชุมพูดคุย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา
พูดคุยกิจกรรมที่จะดำเนินการในพื้นที่ตำบลท่าสาป และตำบลพร่อน 
สรุปประเด็นสำคัญ คือ
         - ทีมคณะทำงานโครงการส่วนกลาง (สงขลา) สอบถามรายละเอียดของกิจกรรมที่จะดำเนินการในพื้นที่
         - คณะทำงานในพื้นที่ นำเสนอประเด็นที่ได้จากเวทีประชาคม 6 โครงการ เพื่อจัดทำโครงการเสนอต่อโครงการสะพาน
         - ทางทีมคณะทำงานโครงการส่วนกลางเห็นด้วยกับโครงการ คือ โครงการจัดการขยะ การเรียนรู้งบประมาณของ อบต. ความพึงพอใจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล การประเมินศักยภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน แต่ไม่เห็นด้วยกับโครงการสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นปัญหาระดับประเทศ อาจไม่บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งมีข้อจำกัดด้วยเวลาเพียง 4 เดือน (ดูภาพเพิ่มเติม)

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานและบทบาทหน้าที่ โครงการสะพานฯ ปี 3


บรรยกาศการประชุมติดตามการดำเนินงานและทบทวนกิจกรรมของคณะกรรมการประสานโครงการสะพานฯ ภาคใต้  เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 พฤศจิกายน 2556  เวลา  09.00-12.00 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะทำงานในพื้นที่ (DIT: District Implement Team) ตำบลท่าสาป และตำบลพร่อน และร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางและกิจกรรมของโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย ปีที่ 3 (2556) ที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่ทั้ง 2 ตำบล 

 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทุกมหาวิทยาลัยเครือข่าย  (รายละเอียดและภาพเพิ่มเติม)


สรุปประเด็นปัญหาตำบลท่าสาป

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่าน ทางคณะทำงานในพื้นที่ตำบลท่าสาป ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการสะพานฯ และคณะทำงาน (DIT : District Implementation team) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประชุมเพื่อสรุปประเด็นปัญหาที่ได้จากเวทีคัดเลือกประเด็นทั้ง 5 ประเด็น ที่ผ่านมา และสรุปให้เหลือเพียง 3 ประเด็นเท่านั้น จากที่ประชุมมีมติสรุปประเด็นปัญหาตำบลท่าสาป มีดังนี้
      1. เยาวชน คือ การจัดการขยะของเทศบาลตำบลท่าสาป
      2. ภาคพลเมือง คือ ความพึงพอใจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และการเรียนรู้งบประมาณ
      จากประเด็นข้างต้นนี้ เพื่อจัดทำโครงการสร้างพลังพลเมืองของตำบลท่าสาป เสนอต่อโครงการสะพานฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาต่อไป

บรรยกาศในการห้องประชุม

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เวทีคัดเลือกประเด็นปัญหา ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา

เมื่อวันพุธ ที่ 30 ต.ค.56 ทางคณะทำงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นำโดย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ หัวหน้าโครงการสะพานฯ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการสะพาน ดร.ศิริชัย นามบุรี ดร.ตายูดิน อุสมาน เจ้าหน้าที่โครงการ และคณะทำงานในพื้นที่ ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านท่าสาปตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพื่อร่วมรับฟังประเด็นปัญหาของพื้นที่ และจัดทำโครงการที่เกิดจากความต้องการที่แท้จริง นำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาของชุมชน

ผู้ดำเนินการประชุม อ.รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล แนะนำคณะทำงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะทำงานในพื้นที่ ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดเวทีคัดเลือกประเด็นปัญหา และวาระการประชุม



อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ อธิบายและทำความเข้าใจโครงการเสริมสร้างประชาธิปไตย ปี 3 กิจกรรมที่จะขับเคลื่อน และการเป็นพลเมืองของประชาชนภายใต้โครงการสร้างสำนึกพลเมืองเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลในท้องถิ่น และเรื่องแจงเพื่อทราบ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีนโยบายกิจกรรมลงสู่พื้นที่ตำบลพร่อน และท่าสาป เป็นพื้นที่นำร่องต่อการพัฒนาท้องถิ่น และเปิดหลักสูตรปริญญาเอก 2 สาขา คือ สาขาวิชา สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา และสาขาวิชา บริหารการศึกษา

อ.รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล นำเสนอถึงการบริการของหน่วยงานภาครัฐ ให้คณะทำงานเข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐต่อประชาชนเป็นอย่างไร ล่าช้าไหม และมีข้อจำกัดอะไรบ้าง เพื่อเสริมสร้างพลเมืองร่วมกัน อธิบายเครื่องมือที่จะทำโครงการให้เข้าใจ และการเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหา มีเครื่องมือดังนี้ บัตรคะแนนศักยภาพชุมชน การเรียนรู้งบประมาณ การติดตามงบประมาณ สัญญาใจพลเมือง และการตรวจสอบสังคม


จากการที่ได้สร้างความเข้าร่วมกันแล้ว แบ่งกลุ่ม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ประชาชน กลุ่มที่ 2 กลุ่มสตรี และกลุ่มที่ 3 เยาวชน ให้แต่ละกลุ่มถอดบทเรียน ปัญหาของตำบลที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา และนำเสนอกลุ่มของแตะละกลุ่ม

สรุปประเด็นปัญหาที่ได้รับจากการประชุม
        1. ความพึงพอใจของการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐต่อประชาชน
        2. การจัดการขยะภายในชุมชน
        3. บทบาทและหน้าที่ของสมาชิก อบต.
        4. การพัฒนาคุณภาพเยาวชนให้มีศักยภาพต่อการพัฒนาชุมชน
        5. การเรียนรู้งบประมาณ (ภาพประกอบเพิ่มเติม) และ (วิดีโอการนำเสนอของประชาชน)

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จัดเวทีคัดเลือกประเด็นปัญหาตำบลพร่อน


วันพฤหัสบดี ที่ 24 ต.ค. 56 เวลา 09.00 - 13.00 น. ทางคณะทำงานในพื้นที่ตำบลพร่อน ได้มีการจัดเวทีคัดเลือกประเด็นปัญหา ณ โรงเรียนมุสลิมศึกษา ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา มีจำนวนผู้เข้าร่วม 60 คน ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ ประชาชนให้ความร่วมมือ ร่วมแสดงความคิดเห็น ถอดบทเรียน และสะท้อนถึงปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน


ผู้ดำเนินการประชุม นายดอเล๊าะอาลี สาแม ประธานคณะทำงานในพื้นที่ตำบลพร่อน ชี้แจงหัวข้อเรื่องประเด็นปัญหา 7 ด้านด้วยกัน คือ ด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพสิ้น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ถนน ประปา ฯลฯ) ประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเกี่ยวกับพลเมือง ธรรมาภิบาล และประชาธิปไตย หรือประเด็นที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่สำคัญคือ ต้องการให้ประชาชนเป็นพลเมือง มีจิตสำนึกประชาธิปไตย มีส่วนร่วม เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้ตำบลมีความเข้มแข็งด้วยพลังพลเมืองของประชาชน และสามารถบริหารจัดการตนเอง

งบประมาณสนับสนุน
ตำบลพร่อน มี 3 กิจกรรมด้วยกัน คือ 1 เยาวชน 70,000 บาท และ 2 กิจกรรมของประชาชน กิจกรรมละ 130,000 บาท รวมเป็นเงิน 330,000 บาท โครงการจะดำเนินการระหว่างเดือน พ.ย. 56 - ม.ค. 57 ประมาณ 3 เดือน และปิดโครงการในเดือน ก.พ. 57





ประเด็นที่ประชาชนสนใจเรื่อง ด้านการศึกษาด้านสาธารณสุข และด้านสาธารณูปโภค การถอดบทเรียนของประชาชนสามารถแจกแจงปัญหาต่าง ๆ ได้ดังนี้ ด้านการศึกษา คือ คุณภาพทางการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ นักเรียนที่จบการศึกษาระดับประถมอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และเป็นปัญหาในการต่อยอดทางการศึกษาระดับที่สูงขึ้น ด้านสาธารณสุข 1. มลภาวะทางเสียง อากาศ น้ำ และทางบก 2. การดูแลผู้สูงอายุ 3. ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย 4. การทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง 5. การระบาดของโรคติดต่อ และ 6. การถมที่และสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ ในส่วนด้านสาธารณูปโภค 1. น้ำประปาไหลไม่สม่ำเสมอ ค่าน้ำแพง น้ำขุ่นมีตะกอน ระบบการบริหารจัดการไม่ดี พื้นที่ขาดแคลนน้ำ บางพื้นที่น้ำแดง 2. ไฟฟ้า แสงสว่างไม่ทั่งถึง และ 3. ถนน ไม่ได้มาตรฐาน ถนน คสล.ขาดการซ่อมแซม การบรรทุกเกินน้ำหนัก ขาดการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ถนนตาสาและจันเรียน ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

การคัดเลือกประเด็นปัญหา ได้ข้อสรุปดังนี้ ประชาชน 2 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสาธารณูปโภค สำหรับเยาวชน 1 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ทั้ง 3 ด้านข้างต้น ได้รับการยอมรับจากเวทีคัดเลือกประเด็นในพื้นที่ตำบลพร่อน    


วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชุมคณะทำงานระดับตำบลพร่อน ครั้งที่ 2

เมื่อวันอังคาร ที่ 22 ต.ค.56 ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานระดับตำบลพร่อน ประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน คณะทำงานระดับตำบล 26 ท่าน ประกอบด้วย คณะทำงาน ที่ปรึกษา ซึ่งมาจากองค์กรหลายหน่วยงาน ดังนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาองค์กรชุมชน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ชมรมผู้นำศาสนา สวัสดิการสือรีกัตมาตี (ฌาปนกิจ) ครูสอนศาสนา ชมรม อสม. ชมรมผู้สูงอายุ คณะกรรมการที่อยู่อาศัย ผู้อำนวยการโรงเรียน กลุ่มนาปรัง ผู้นำเยาวชน และฝ่ายการปกครอง
ประเด็นสำคัญโดยสรุป
              ผอ.โรงเรียน อบต. เทศบาล รพ.สต. องค์กรที่อยู่ภายในชุมชน พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เพื่อพัฒนาการบริการขององค์กรสู่ความเป็นเลิศ ประชาชนได้รับความพึงพอใจและประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐให้มากที่สุด
ข้อเสนอแนะประเด็นข้างต้น
             -  การทำโครงการส่วนใหญ่เน้นหน่วยงานภาครัฐ เช่น โรงเรียน อบต. เทศบาล รพ.สต. เป็นต้น
             -  ควรเน้นองค์กรศาสนา องค์กรต่างๆ ที่อยู่ภายในชุมชน                                  
             -  ประเด็นที่เป็นปัญหานำไปสู่เวที พูดคุย แลกเปลี่ยน และหาแนวทางร่วมกัน
ข้อสังเกต
             -  โครงการไม่ต่อเนื่อง
             -  โครงการเน้นการค้นหาจุดด้อย มากกว่าจุดเด่น
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
             -  เป้าหมายโครงการต้องชัดเจน 
             -  ส่งเอกสารรายงานกับหน่วยงานที่จัดทำโครงการ
             -  มีแผนกิจกรรมดำเนินงานทุกขั้นตอน 
             -  ไม่สร้างภาระให้กับหน่วยงานที่ร่วมโครงการ 
ภาพประกอบการประชุม                                  

กล่าวต้อนรับโดยนายกอบต.พร่อน
ผู้ดำเนินการประชุม
โดย นายดอเล๊าะอาลี  สาแม
อธิบายและทำความเข้าใจโครงการ
โดย อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์
ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ผู้เข้าร่วมรับฝังการนำเสนอโครงการ

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชุมคณะทำงาน ตำบลท่าสาป ครั้งที่ 2

เมื่อวันศุกร์ ที่ 11 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานในพื้นที่ตำบลท่าสาป มีกิจกรรมการประชุม เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่ โดยได้รับเกียรติจากนายกเทศมนตรีตำบลท่าสาป นายมสดี หะยีปิ กล่าวต้อนรับ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการ เจ้าหน้าที่โครงการ คณะทำงาน และผู้เข้าร่วม ท่านมีความรู้สึกยินดีที่ทางโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้รับเลือกพื้นที่ตำบลท่าสาป และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ร่วมดำเนินงาน เพื่อนำการพัฒนาสู่ตำบลท่าสาปต่อไป
ดำเนินกิจกรรม โดย อ.รอซีดี เลิศอริยพงษ์กุล ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการสะพาน ปี 3 และแนะนำตัวคณะทำงาน ผู้ที่เกี่ยวข้อง สร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อการดำเนินงานกิจกรรมบรรลุเป้าหมาย
อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ ได้อธิบายกิจกรรมและเครื่องมือในการดำเนินงานโครงการ ได้แก่ บัตรศักยภาพชุมชน การเรียนรู้งบประมาณ การตรวจสอบงบประมาณ เครื่องมือที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ เพื่อนำไปใช้กับหน่วยงานที่ทำโครงการ เช่น อบต. เทศบาล โรงเรียน โรงพยาบาลเพื่อสุขภาพตำบล ในส่วนของเยาวชนอาจใช้สื่อ เช่น Facebook youtube เป็นต้น
นายดอเล๊าะอา สาแม ได้ถ่ายทอดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ปัญหาของโรงเรียนบ้านพร่อน คือ เด็กนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จึงใช้เครื่องมือบัตรคะแนนศักยภาพชุมชนสอบถาม ผู้ปกครอง ผอ. และครู ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กนักเรียน เพื่อแก้ไขปัญหา สร้างความเข้าใจระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง และยกระดับการศึกษาให้ดีขึ้น
คำถามจากพื้นที่ ถามว่าโครงการที่เป็นการสร้างจิตสำนึกของเด็กทำได้ไหม ดร.บุญสิทธิ ไชยชนะ ตอบคำถามจากพื้นที่ว่า โครงการที่เป็นการแก้ไขปัญหาเชิงบวกสามารถทำได้ การมีส่วนร่วม การสร้างจิตสำนึกพลังพลเมือง ประชาธิปไตย เป็นต้น
กิจกรรมที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ คือ 
     - ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจคณะทำงานระดับตำบล ในวันอังคาร ที่ 22 ต.ค.56 เวลา 13.30 น.        ณ ห้องประชุม อบต.พร่อน
     - ประชุมผู้แทนกลุ่มที่ขอรับทุน ในวันเสาร์ ที่ 26 ต.ค.56 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม อบต.พร่อน
     - ประชุมระบุประเด็นปัญหา ในวันจันทร ที่ 28 ต.ค.56 เวลา 09.00-16.00 น. ณ โรงเรียนบ้านท่าสาป จำนวนผู้เข้าร่วม ประมาณ 70-80 คน

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชุมคณะทำงานในพื้นที่ [DIT]


วันพฤหัสบดี ที่ 3 ตุลาคม 2556 เวลา 09.00 - 12.00 น. ประชุมคณะทำงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย ปี 3 โดย ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ ดร.ศิริชัย นามบุรี เจ้าหน้าโครงการ และคณะทำงานในพื้นที่ เพื่อชี้แจงงบประมาณการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ทั้ง 2 พื้นที่ คือ พร่อน และท่าสาป เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันและการบริหารจัดการงบประมาณ


ดร.บุญสิทธิ์ มอบหมายให้กับคณะทำงานในพื้นที่กำหนดแผนกิจกรรม และการขับเคลื่อนกิจกรรม โดยกำหนดขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 หาคนทำงานร่วมกัน หาประเด็น หาปัญหา อาจจะเป็นการจัดเวที ขั้นตอนที่ 2 คิดเครื่องมือที่ใช้ในพื้นที่ และขั้นตอนที่ 3 กิจกรรมที่จะดำเนินการ ระหว่างเดือน พฤศจิกายน 56 - มกราคม 57 ปิดโครงการไม่เกิน กุมภาพันธ์ 57  


มติที่ประชุม มีมติให้นายดอเลาะอาลี  สาแม เปลี่ยนตำแหน่งจากดัชนีธรรมาภิบาล เป็นผู้รับทุนในพื้นที่ เพราะว่า นายดอเลาะอาลี เป็นบุคคลสำคัญในพื้นที่และได้รับความไว้ใจจากชุมชน เพื่อให้ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ให้ลุล่วงด้วยดี

ดร.บุญสิทธิ ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่สำนักงานโครงการสะพาน เรื่อง การอำนวยความสะดวกที่สุด ประสานงานพื้นที่ใกล้ชิดกว่านี้ เป็นคนกลางระหว่างพื้นที่กับสะพาน สามารถตอบคำถามทุกคำถาม

ประเด็นเพิ่มเติม การประชุมต้องมีหลายภาคี เช่น ประชาชน เยาวชน แกนนำ กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง
จะจัดพร้อมกันหรือแยกกลุ่มก็ได้ ในส่วนรายชื่อคณะทำงาน ต้องไปหารือคณะทำงาน เพื่อสร้างโครงการ โดยทำความเข้าใจว่ามีกี่โครงการ กี่กลุ่ม กิจกรรม มี 3 กลุ่ม คือ ประชาชน 2 กลุ่ม และ เยาวชน 1 กลุ่ม จะต้องหารือในพื้นที่ คิดโครงการ เห็นชอบแล้วเสนอต่อโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาภายในเดือนตุลาคมนี้

ประชุมร่วมกับภาคีพัฒนาอื่นๆ

วันที่ 2 ตุลาคม 2556 เวลา 09.00 - 12.00 น.
           ดร.บุญสิทธ์  ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการสะพาน และนายริดวาน  ดาหะมิ เจ้าหน้าที่โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงแรมซี.เอส ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
           ภาคีพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าร่วมมีดังนี้  มูลนิธิศักยภาพชุมชน, ปัตตานี Forum, วิทยุสลาตัน, สมาคมเด็กชายแดนใต้, สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ, S.T มีเดีย, และวิทยาลัยประชาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมาพูดคุยแลกเปลี่ยน เรียนรู้ถึงโอกาส สิ่งท้ายทายในการทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความสันติสุขต่อไป   

วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชุมคณะทำงานโครงการสะพานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และร่วมแสดงความยินกับอธิการบดี

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2556 เวลา 09.00 - 11.00 น. คณะทำงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปีที่ 3 นำโดย ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการ ดร.ศิริชัย นามบุรี ดร.ตายูดิน อุสมาน และคณะทำงานประสานงานในพื้นที่ ได้มีการประชุมหารือเพื่อวางกรอบงาน แนวทาง และการมอบหมายงานให้คณะทำงานในพื้นที่ ดำเนินการลงพื้นที่ เพื่อสำรวจ เลือกปัญหาภายในชุมชน เช่น เลือกคณะทำงาน กำหนดกิจกรรม กำหนดปัญหา และจัดเวทีพูดคุยประเด็นปัญหา ซึ่งเกี่ยวกับธรรมาภิบาล พลเมือง ประชาธิปไตย และจัดทำโครงการเสนอต่อโครงการสะพานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาพิจารณา



ในส่วนกิจกรรมที่จะดำเนินการในพื้นที่ มี 6 กิจกรรมด้วยกัน คือกิจกรรมของเยาวชน 2 กิจกรรมๆ ละ 70,000 บาท และภาคประชาชน 4 กิจกรรมๆ ละ 130,000 บาท 

ดร.ศิริชัย นามบุรี เสนอแนะเพิ่มเติมว่า กิจกรรมหรือเครื่องมือที่สามารถบูรณาการก็คือ Facebook เช่น การนำเสนอการใช้งบประมาณ การติดตามงบประมาณ พลังพลเมือง โดยสื่อผ่านหนังส้ัน ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว

สรุปประเด็นสำคัญก็คือ สร้างทีมงานให้มีการทำงานร่วมกัน การดำเนินงานตามแผน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

เวลา 11.10 น. ทางคณะทำงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย นำโดย ดร.ตายูดิน อุสมาน และคณะทำงาน ได้เข้าพบและร่วมแสดงความยินดีกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อธิการบดีได้ให้โอวาทและกำลังใจคณะทำงาน เพื่อให้ดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป









วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

กิจกรรมประชุมกลางปี (Mid-Project Meeting) โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย

วันที่ 16-17 กันยายน 2556 คณะทำงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปีที่ 3 ประกอบด้วย ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการ ดร.ศิริชัย นามบุรี ดร.ตายุดิน อุสมาน และ ผศ.สมศักดิ ด่านเดชา คณะกรรมการประสานงานโครงการ เข้าร่วมประชุม Mid-Project Meeting เพื่อรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการในปีที่ 3 ณ ห้องลีลาวดี โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร  กิจกรรมนี้ มีมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรมอีก 5 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยได้ดำเนินงานก้าวหน้าไปตามแผนและเป็นไปตามลำดับที่กำหนดไว้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถนำจุดเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัยไปปรับใช้กระบวนการทำงานของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะการเลือกใช้และการค้นหาเครื่องมือธรรมภิบาลท้องถิ่น (
Local Governance: LG) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 
    

          สำหรับการดำเนินงานในกิจกรรมด้านการพัฒนาตัวชี้วัดธรรมาภิบาลระดับจังหวัด (Provincial Governance index: PGI) ที่ประชุมได้นำเสนอประเด็นของการปรับสอบถามการศึกษาดัชนีธรรมาภิบาลระดับจังหวัด ซึ่งแบ่งกรอบการวัดระดับความเป็นธรรมาภิบายจังหวัด เป็น 6 ประเด็น ประกอบด้วย (1) ด้านความโปร่งใส (Transparency) (2) ด้านภาระรับผิดชอบ (Accountability)  (3) ด้านการมีส่วนร่วม (Participation)  (4) ด้านนิติธรรม (Rule of Law)  (5) ด้านการทุจริต (Corruption)  และ (6) ด้านการให้บริการสาธารณะ   โดยกำหนดกรอบในการถามในลักษณะของการให้บริการของรัฐของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด แบ่งเป็น 1) ด้านบริการด้านสุขภาพ 2) ด้านบริการการศึกษา 3) ด้านสวัสดิการและความมั่นคง 4) ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรมนี้มี ศูนย์ผู้นำธุรกิจเพื่อสังคมแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาเครื่องมือแบบสอบถาม และลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับมหาวิทยาลัยอีก แห่ง คือ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยโดยในเบื้องต้นที่ประชุมมีมติให้ ศูนย์ผู้นำธุรกิจเพื่อสังคมแห่งมหาวิทยาลัยเษตรศาสตร์ ไปปปรับข้อคำถามให้เหมาะสม โดยเน้นการใช้คำถามในลักษณะถามประสบการณ์ของประชาชนที่ได้รับบริการจากภาครัฐ โดยเฉพาะเน้นหน่วยงานระดับจังหวัด โดยทางศูนย์ผู้นำธุรกิจเพื่อสังคมแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะได้นำเสนอแบบสอบถามให้มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องได้ร่วมตรวจสอบต่อไป พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแผนงานที่จะลงพื้นที่เพื่อคัดเลือกและฝึกอบรมผู้เก็บข้อมูลในพื้นที่ รวมถึงกิจกรรมคืนข้อมูลให้แก่พื้นที่ของแต่ละมหาวิทยาลัยในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2557 ต่อไป [ดูภาพเพิ่มเติม...]

วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ลงพื้นที่ชี้แจงโครงการในพื้นที่เป้าหมาย ต.พร่อน และ ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา


เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา คณะกรรมการดำเนินงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 3 พร้อมด้วยกรรมการประสานงานในพื้นที่เป้าหมาย นำโดย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ หัวหน้าโครงการ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการ ดร.ศิริชัย นามบุรี และ ดร.ตายุดิน อุสมาน กรรมการประสานงานโครงการ ลงพื้นที่เป้าหมายการดำเนินโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกพลเมือง การส่งเสริมธรรมภิบาล 2 ตำบล ในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ การเตรียมการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งงบประมาณสนับสนุน  โดยกำหนดการลงพื้นทีและรายละเอียดมีดังนี้

        เวลา 08.00-12.00 น. ชี้แจงโครงการครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลพร่อน ให้การต้อนรับและให้ความร่วมมือจากประชาชนและเยาวชนในพื้นที่เป็นอย่างดี ขอขอบคุณท่านนายก อบต. พร่อน นายมะรอบี ดือเร๊ะ ที่ให้การต้อนรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รายละเอียดกำหนดการมีดังนี้
08.30  น.          ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม 
09.00  น.          กล่าวเปิดการประชุม
                        โดย ผศ.ดร.สมบัติ  โยธาทิพย์  หัวหน้าโครงการสะพาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
09.20 น.           ชี้แจงกรอบการดำเนินงาน วัตถุประสงค์ และภาพรวมกิจกรรมในโครงการสะพาน ปี 3
                       โดย ดร.บุญสิทธิ์  ไชยชนะ  รองหัวหน้าโครงการสะพาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
10.00 น.          ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกิจกรรมและเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานโครงการในพื้นที่
                       โดย ดร.ตายูดิน  อุสมาน และดร.ศิริชัย  นามบุรี  ผู้ประสานงานโครงการฯ
10.30 น.          การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานของโครงการ ร่วมกับพื้นที่
12.00  น.         เสร็จสิ้นการประชุม

วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กิจกรรมคัดเลือกทีประเมินการดำเนินงานโครงการสะพานฯ ปี 3


วันที่่ 6 สิงหาคม 2556 เวลา 13.00 น. คณะกรรมการโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 3 ดำเนินกิจกรรมคัดเลือกทีมประเมินโครงการ เพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมในการลงพื้นที่ร่วมกับโครงการเพื่อประเมินการดำเนินงาน ได้แก่ การหาข้อมูลพื้นฐานในชุมชน การประเมินผลขณะดำเนินงานโครงการ และประเมินหลังดำเนินงานโครงการ โดยมี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ เป็นประธาน คณะกรรมประกอบด้วย ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ  ดร.ตายุดิน อุสมาน ดร.ศิริชัย นามบุรี เป็นคณะกรรมการพิจารณา โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอ 2 ราย การพิจารณาคัดเลือกมีเกณฑ์ในการตัดสินความเหมาะสม ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคุณสุจินตนา เหมตะศิลป ผู้ประสานงานโครงการ USAID ภาคใต้ เป็นผู้สังเกตการณ์และให้คำแนะนำในการดำเนินการครั้งนี้ด้วย


กิจกรรมประชุมที่คณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการสะพานปีที่ 3

  เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 เวลา 09.00-12.00 น. โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปีที่ 3 (ได้รับงบประมาณสนับสนุนต่องเนื่องจาก USAID) จัดกิจกรรมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับจังหวัด เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ หัวหน้าโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 3 กล่าวต้อนร้บคณะกรรมการและนำเสนอความเป็นมาของโครงการในปีแรก (พ.ศ. 2554) และ การดำเนินงานในปีที่ 2 (พ.ศ. 2555) และแนวทางในการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2556 นี้  โดยมี ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ  รองหัวหน้าโครงการ   ดร.ตายุดิน อุสมาน และ ดร.ศิริชัย นามบุรี คณะกรรมการดำเนินงาน ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการในปีที่ 1- ปีที่ 3
          การประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าราชการ จังหวัดยะลา นายเดชรัตน์ สิมศิริ และนายวิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดยะลา รวมทั้งผู้แทนจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวมทั้ง ผู้บริหารและผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.ท่าสาป และ อบต.พร่อน  ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นในการลงพื้นที่ดำเนินงานตามโครงการนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการดำเนินงานในโครงการ ประเด็นสำคัญ เช่น กระบวนการลงพื้นที่ควรประสานงานผ่านคณะกรรมการหมู่บ้าน การมีนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในพื้นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในโครงการนี้  การใช้เครื่องมือที่จะดำเนินการในพื้นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งได้กำหนดกรอบเครื่องมือสำหรับดำเนินงานในพื้นที่ ได้แก่ คะแนนศักยภาพชุมชน (Score Card)  สัญญาใจพลเมือง (Citizen Charters) การตรวจสอบสังคม (Social Audits) การเรียนรู้งบประมาณ การติดตามงบประมาณ  เป็นต้น รวมทั้งเครื่องมืออื่นๆ ที่คณะกรรมการดำเนินงานในพื้นที่เห็นว่ามีความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่

วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กิจกรรมประชุมคณะกรรมการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อคัดเลือกพื้นที่ระดับอำเภอสำหรับดำเนินการในปี 2556




      คณะกรรมการดำเนินงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 3 จัดเวทีเลือกพื้นที่เป้าหมายระดับอำเภอของจังหวัดยะลา  เพื่อเป็นเป้าหมายพื้นที่ขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เวลา 08.00-12.00 น. ณ ห้องกระยาทิพย์ โรงแรมปาร์ควิว ผลการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นร่วมกัน ในด้านความปลอดภัย ด้านความพร้อมของพื้้นที่ ศักยภาพของประชาชน และความสะดวกในการเดินทาง  มติที่ประชุมเลือกจังหวัดยะลา และเลือกพื้นที่อำเภอเมืองยะลเป็นพื้นที่ดำเนินการกิจกรรมเชิงลึกในพื้นที่ ซึ่งต้องดำเนินการโดยประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ประกอบด้วย 1) กิจกรรมบัตรศักยภาพชุมชน 2) กิจกรรมติดตามประเมินผลการดำเนินงาน 3) กิจกรรมเผยแพร่ตัวชี้วัดจังหวัดธรรมาภิบาล 4) และกิจกรรมของเยาวชนในพื้นที่ ในขั้นตอนต่อไป จะดำเนินการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ระดับตำบล 2 ตำบลในพื้นที่อำเภอเมือง โดยกำหนดเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวันที่ 21 มิถุนายน 2556 ต่อไป

วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ลงนามสัญญาโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 3



วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เวลา 10.00 น. โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดพิธีลงนามสัญญารับทุนสนับสนุนดำเนินงานประจำปีงบประมาณปี 2556 เป็นปีที่ 3 กับ "โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย" ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดย  USAID  (United States Agency for Iฑnternational Development) ณ ห้องประชุม คณะมนุษยศาสตร์ฯ โดยมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ และผู้แทนจาก USAID  สำนักงานกรุงเทพฯ จากสำนักงานจังหวัดสงขลา
       สำหรับแนวทางหรือกรอบในการดำเนินปีที่ 3 เป็นการนำแนวคิดต่อเนื่องมาจากปีที่ 2 คือ การนำเครื่องมือพัฒนาธรรมาภิบาลท้องถิ่น รวมทั้งวิธีการดำเนินงานจากปีที่ 2  เช่น การใช้บัตรศักยภาพคะแนนชุมชน การวิจัยชุมชน สือสร้างสรรค์ชุมชน เครื่องมืออื่นๆ ที่ส่งเสริมธรรมาภิบาลท้องถิ่น ทั้งนี้ เน้นชุมชนในพื้นที่เป้าหมายเป็นผู้ดำเนินการ เป็นผู้ทำกิจกรรม ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพก่อนดำเนินงาน  และโดยมีการติดตามประเมินผลจากทีมประเมินผล รวมทั้ง การนำดัชนีธรรมภิบาลจังหวัด (PGI) ที่จะพัฒนาขึ้นโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยฯ ในโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตยทั่วประเทศ 4 เครือข่าย (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ร่วมกันพัฒนามาขยายผลต่อในพื้นที่ โดยในปีนี้ เน้นพื้นที่เป้าหมายในระดับตำบลในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัย จำนวน 2 ตำบล  ซึ่งเลือกตำบลเป้าหมายตามเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน
     สำหรับกิจกรรมต่อเนื่องในการดำเนินงานในระยะต่อไปของโครงการฯ  โปรดติดตามในโอกาสต่อไป [ภาพประกอบเพิ่มเติม]

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การส่งรายงานวิจัยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning)

จากการประชุมของคณะกรรมการดำเนินงานกลุ่มการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning) มีข้อกำหนดในการส่งรายงานวิจัย เพื่อสะดวกต่อการเผยแพร่ ขอให้ผู้รับทุนสนับสนุนการวิจัยส่งรายงานการวิจัยตามข้อกำหนด ดังนี้
1.   ให้แก้ไขรายงานการวิจัยตามข้อแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา /คณะกรรมการ ภายใน 7 วัน นับจากวันได้เล่มต้นฉบับคืนจากโครงการ
2.   เข้าปกสีขาวเคลือบมัน ส่งให้โครงการจำนวน 3 เล่ม (ที่คุณพารีซัน /คุณฟูดัยส์/คุณอุสมาน)
3.   ส่งแผ่น CD-ROM ไฟล์รายงานโครงการเป็นประเภท Microsoft  Word แยกตามชื่อไฟล์ดังนี้
-         Intro.doc  -  ส่วนปกใน, ปกนอก, ใบรับรอง , บทคัดย่อ , กิตติกรรมประกาศ , สารบัญ , สารบัญตาราง , สารบัญภาพ
(ในส่วนของปกนอก และปกใน ให้ตัด Logo ของโครงการสะพาน และ Logo ของ USAID ออก
ให้คงไว้เฉพาะ
Logo ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา)
-         Chapter1.doc  -  บทที่ 1 บทนำ
-         Chapter2.doc  -  บทที่ 2 ทฤษฎีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
-         Chapter3.doc  -  บทที่ 3 การดำเนินการวิจัย
-         Chapter4.doc  -  บทที่ 4 ผลการวิจัย
-         Chapter5.doc  -  บทที่ 5 สรุป อภิปรายและข้อเสนอแนะ
-         Reference.doc  -  เอกสารอ้างอิง / บรรณานุกรม
-          Appendix.doc  -  ภาคผนวก
** เมื่อส่งรายงานวิจัย และแผ่น CD – ROM เรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถรับเงินงวดสุดท้ายได้ ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้** ในกรณีที่ต้องการเขียนบทความวิจัยเผยแพร่ นักวิจัยสามารถดำเนินการได้ แต่โปรดส่งต้นฉบับให้โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะ ก่อนส่งต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์
*** หากมีข้อสงสัยประการใด โปรดติดต่อ ดร.ศิริชัย นามบุรี โทร 084-196-8099  E-mail   sirichai.nbr@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

บรรยากาศงานมหกรรมเสริมสร้างประชาธิปไตย

โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 2 (2555) จัดกิจกรรมมหกรรมเสริมสร้างประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2556  ณ โรงแรมปาร์ควิว จังหวัดยะลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปิดโครงการและเผยแพร่ผลงานจากการดำเนินงานโครงการประจำปี 2555 ให้เป็นที่แพร่หลาย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางวิชาการด้านการพัฒนาและเสริมสร้างแนวคิดประชาธิปไตยในท้องถิ่น
     กิจกรรมเริ่มเวลา 09.00-09.45 น. เป็นการแสดงดิเกร์ฮูลู 4 ภาษา วงคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นการแสดงเปิดเวที ก่อนเริ่มพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในเวลา 10.00 น. โดยได้รับเกียรติจาก พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธี กล่าวรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์การดำเนินงานโดย ผศ.ไกรสร ศรีไตรรัตน์ อธิการบดี  และสรุปผลการดำเนินงานโดยหัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์  หัวหน้าโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย ปี 2  จากนั้นเวลา 10.30-12.00 น. เป็นกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการโดยมีตัวแทนจาก 3 กลุ่มทุน ประกอบด้วยกลุ่มการเรียนรู้จากการปฏิบัติ กลุ่มธรรมาภิบาลท้องถิ่น และกลุ่มดรรชนีธรรมาภิบาลจังหวัด โดยมี อาจารย์ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ เป็นผู้ดำเนินรายการ
   นอกจากนั้น บริเวณงานยังมีการจัดกิจกรรมนำเสนอผลงานภาคโปสเตอร์ของแต่ละกลุ่ม จำนวนกว่า 30 ชิ้นงาน [ภาพประกอบ...]