วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กิจกรรมประชุมที่คณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการสะพานปีที่ 3

  เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 เวลา 09.00-12.00 น. โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปีที่ 3 (ได้รับงบประมาณสนับสนุนต่องเนื่องจาก USAID) จัดกิจกรรมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับจังหวัด เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ หัวหน้าโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 3 กล่าวต้อนร้บคณะกรรมการและนำเสนอความเป็นมาของโครงการในปีแรก (พ.ศ. 2554) และ การดำเนินงานในปีที่ 2 (พ.ศ. 2555) และแนวทางในการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2556 นี้  โดยมี ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ  รองหัวหน้าโครงการ   ดร.ตายุดิน อุสมาน และ ดร.ศิริชัย นามบุรี คณะกรรมการดำเนินงาน ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการในปีที่ 1- ปีที่ 3
          การประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าราชการ จังหวัดยะลา นายเดชรัตน์ สิมศิริ และนายวิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดยะลา รวมทั้งผู้แทนจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวมทั้ง ผู้บริหารและผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.ท่าสาป และ อบต.พร่อน  ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นในการลงพื้นที่ดำเนินงานตามโครงการนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการดำเนินงานในโครงการ ประเด็นสำคัญ เช่น กระบวนการลงพื้นที่ควรประสานงานผ่านคณะกรรมการหมู่บ้าน การมีนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในพื้นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในโครงการนี้  การใช้เครื่องมือที่จะดำเนินการในพื้นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งได้กำหนดกรอบเครื่องมือสำหรับดำเนินงานในพื้นที่ ได้แก่ คะแนนศักยภาพชุมชน (Score Card)  สัญญาใจพลเมือง (Citizen Charters) การตรวจสอบสังคม (Social Audits) การเรียนรู้งบประมาณ การติดตามงบประมาณ  เป็นต้น รวมทั้งเครื่องมืออื่นๆ ที่คณะกรรมการดำเนินงานในพื้นที่เห็นว่ามีความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่

       สำหรับการดำเนินงานในปี 2556 นี้ คณะกรรมการโครงการเสริมสร้างสะพานฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 2 ตำบล ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องกำหนดเกณฑ์และพิจารณาคัดเลือกร่วมกัน โดยเลือกพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย  ตำบลพร่อน และตำบลท่าสาป และกำหนดกรอบดำเนินงานโครงการในพื้นที่ พื้นที่ละ 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ดำเนินการโดยประชาชนในพื้นที่ 2 โครงการ และกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ 1 โครงการ  รวมทั้งหมด 6 โครงการ ซึ่งจะดำเนินการโครงการในระยะต่อไป คือ การลงพื้นที่เพื่อชี้แจงโครงการในพื้นที่ การคัดเลือกคณะทำงานในพื้นที่ โดยจะเปิดรับโครงการ ในช่วงเดือนกันยายน 2556 และระยะเวลาดำเนินงาน 6 เดือน ตั้งแต่ ตุลาคม 2556 – มีนาคม  2557 ขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการ  ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

1.  การรวมกลุ่ม แต่งตั้งคณะทำงานโครงการ
2. จัดทำและยื่นข้อเสนอโครงการแก่โครงการสะพาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  เพื่อพิจารณาคัดเลือก
3. อบรมผู้ได้รับเลือกโครงการ (1-2 ครั้ง)
4. แลกเปลี่ยนกับภาคีโครงการสะพาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
5. นำเสนอผลการดำเนินงานในเวทีสาธารณะ
    
     สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคุณสุจินตนา เหมตะศิลป  ผู้ประสานงานโครงการ USAID เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุม เป็นการติดตามและให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานด้วย [ดูภาพกิจกรรมเพิ่มเติม] 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น