วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประกาศให้ทุนสนับสนุนการถอดบทเรียนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และพัฒนาเครื่องมือธรรมาภิบาลท้องถิ่น

      โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 2  ให้ทุนสนับสนุนนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และภาคประชาสังคม ใน  2 โครงการ คือ 1) การวิจัยหรือถอดบทเรียนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning) และ 2) การสร้างเครื่องมือธรรมภิบาลท้องถิ่น (Local Governance)   
โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. โครงการวิจัยถอดบทเรียนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning)  สนับสนุนทุนสำหรับการทำวิจัยแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และทุนสนับสนุนภาคประชาสังคม กลุ่มหรือองค์กรอิสระ  โดยกำหนดพื้นที่การวิจัยหรือการถอดบทเรียนชุมชนในเขตจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี  กำหนดรูปแบบการถอดบทเรียนในลักษณะของการเรียนรู้จากปฏิบัติจริงในชุมชน กำหนดปัญหาจากชุมชน ทำการวิจัยค้นหาคำตอบหรือหาแนวปฏิบัติที่ดีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การพัฒนาจิตสำนึกพลเมือง การพัฒนาประชาธิปไตยในท้องถิ่น สิทธิมนุษยชน การเมืองการปกครองในท้องถิ่น สิทธิของพลเมืองในท้องถิ่น ธรรมาภิบาลกับการเมืองการปกครองในท้องถิ่น ปัญหาคอรัปชั่น บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อ การจัดการความขัดแย้งในชุมชน

2. โครงการการสร้างเครื่องมือธรรมภิบาลท้องถิ่น (Local Governance) เป็นการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนา เครื่องมือบัตรคะแนนศักยภาพชุมชน  หรือเครื่องมือการเรียนรู้งบประมาณ หรือเครื่องมือการตรวจสอบงบประมาณ 

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดตัวโครงการสะพาน: เสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยลัยราชภัฏยะลา ปี 2

      โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิดตัวโครงการปีที่ 2 (2555) อย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2555 เวลา 09.00 - 16.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารวชิราลงกรณ (อาคาร 20) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 


      กิจกรรมเปิดตัวโครงการครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากท่านอธิการบดี ผศ.ไกรสร ศรีไตรรัตน์ เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการและการดำเนินงานโดย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หัวหน้าโครงการ กิจกรรมในภาคเช้าเป็นการสรุปผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาของโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย ปีที่ 1 และแนะนำรูปแบบการดำเนินงานในปีที่ 2  โดย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ หลังจากนั้นแต่ละทีม ประกอบด้วย 1) ทีม Action Learning   ดร.ศิริชัย นามบุรี หัวหน้าทีม  2) ทีม Local Governance โดย ดร. ตายุดิน อุสมาน หัวหน้าทีม 3) ทีม Provincial Governance Index  ผศ.สมศักดิ์ ด่านเดชา หัวหน้าทีม เป็นตัวแทนขึ้นแนะนำโครงการและรายละเอียดภาพรวมการให้ทุนสนับสนุนการทำกิจกรรม
      กิจกรรมช่วงบ่ายเป็นการเสวนา เรื่อง "ธรรมาภิบาลกับการพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนใต้" โดย นายอุดร น้อยทับทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา  นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา และนายรุสดี บาเกาะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา โดยมีคุณพงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
      กิจกรรมช่วงสุดท้ายเป็นการชี้แจงแผนการดำเนินงานของแต่กิจกรรม พร้อมการตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการขอทุนสนับสนุนกิจกรรมทุนวิจัย Action Learning และทุนสร้างเครื่องมือ Local Governance  สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเปิดตัวโครงการสะพานฯ ทั้งนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท คณาจารย์ สมาชิกชุมชน ภาคประชาสังคม กลุ่ม/องค์กรอิสระ เข้าร่วมกิจกรรมมากว่า 300 คน [ดูภาพเพิ่มเติม...]

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประกาศรับทุนวิจัยถอดบทเรียนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning)

       คณะกรรมการดำเนินงานทุนวิจัยถอดบทเรียนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning) ประกาศรับสมัครทุนวิจัยประจำปี 2555 ในลักษณะการศึกษาเรียนรู้ชุมชน การถอดบทเรียนแนวปฏิบัติที่ดีจากชุมชนในเขตจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาน ในหัวข้อเกี่ยวกับการพัฒนาจิตสำนึกพลเมือง การพัฒนาประชาธิปไตยในท้องถิ่น สิทธิมนุษยชน การเมืองการปกครองในท้องถิ่น สิทธิของพลเมืองในท้องถิ่น ธรรมาภิบาลกับการเมืองการปกครองในท้องถิ่น ปัญหาคอรัปชั่น บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อ การจัดการความขัดแย้งในชุมชน โดยสนับสนุนทุนแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และภาคประชาสังคมหรือกลุ่มองค์กรอิสระ ดังนี้


 นักศึกษาระดับปริญญาตรี                           ทุนละ 30,000 บาท
 นักศึกษาระดับปริญญาโท                          ทุนละ 40,000 บาท
 ภาคประชาสังคม/กลุ่มหรือองค์กรอิสระ        ทุนละ 80,000 บาท

          โดยกำหนดเขตพื้นที่จะสนับสนุนการทำวิจัย แยกตามจังหวัด รวมทั้งหมด 7 พื้นที่หรือชุมชน ดังนี้
 จังหวัดยะลา ระดับปริญญาตรี 5 ทุน ระดับปริญญาโท 5 ทุน และภาคประชาสังคม/กลุ่มหรือองค์กรอิสระ 5 ทุน รวม 15 ทุน (กำหนดพื้นที่การทำวิจัยไว้ 5 พื้นที่/ชุมชน)
 จังหวัดปัตตานี ระดับปริญญาตรี 1 ทุน ระดับปริญญาโท 1 ทุน และภาคประชาสังคม/กลุ่มหรือองค์กรอิสระ 1 ทุน รวม 3 ทุน  (กำหนดพื้นที่การทำวิจัยไว้ 1 พื้นที่/ชุมชน)
 จังหวัดนราธิวาส ระดับปริญญาตรี 1 ทุน ระดับปริญญาโท 1 ทุน และภาคประชาสังคม/กลุ่มหรือองค์กรอิสระ 1 ทุน รวม 3 ทุน (กำหนดพื้นที่การทำวิจัยไว้ 1 พื้นที่/ชุมชน)

ผู้สนใจอ่านรายละเอียดจากลิงก์ รายละเอียดทุนและแบบฟอร์ม  และขอเชิญร่วมรับฟังรายละเอียดการเปิดตัวโครงการในวันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2555 เวลา 09.00-16.00 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติวชิราลงกรณ (อาคาร 20) ห้องประชุมชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ยินดีต้อนรับสู่เว็บล็อกของโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

 โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปีที่ 2 ดำเนินงานต่อเนื่องมาจากปีแรก ปีการศึกษา 2554 และในปีงบประมาณ 2555 นี้ โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หรือ SAPAN-YRU ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1) การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ (Action Learning) 2) การพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบธรรมภิบาลท้องถิ่น (Local Governance) 3) การสร้างตัวชี้วัดธรรมาภิบาลระดับจังหวัด (Provincial Governance) และ 4) การสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการ (Implementation Team)

    ผู้สนใจร่วมกิจกรรมกับโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย โปรดติดตามข่าวสารทางเว็บบล็อก และ Facebook ที่ลิงก์ http://www.facebook.com/sapan-yru  หรือเว็บล็อก http://sapan-yru.blogspot.com