วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เวทีเสวนาและเสนอข้อมูล การเรียนรู้งบประมาณ อบต.พร่อน ณ ห้องประชุมพิมพ์มาดา โรงแรมปาร์วิวยะลา

เมื่อวันอังคาร ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่าน ทางคณะทำงานเรียนรู้งบประมาณ อบต.พร่อน ได้จัดกิจกรรมเวทีเสวนาและเสนอข้อมูล เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงบประมาณของ อบต. มากยิ่งขึ้น ณ ห้องประชุมพิมพ์มาดา โรงแรมปาร์วิวยะลา โดยมีคุณดอเล๊าะอาลี สาแม เป็นหัวหน้าโครงการ และได้รับเกียรติจาก ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ เป็นประธานพิธีเปิดเสวนา คุณดอเล๊าะอาลี ได้สรุปผลการศึกษากระบวนการเรียนรู้งบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า งบประมาณประจำปีของ อบต. เป็นงบประมาณที่อยู่คงคลัง หรือ อยู่ในธนาคาร และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ข้อบัญญัติรายจ่ายประจำของ อบต. เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารองค์กร หรือ อบต. ถ้า อบต.ไม่มีข้อบัญญัติประจำปี อบต.ก็ไม่สามารถที่จะบริหารและนำงบประมาณที่คงคลัง ออกมาใช้จ่ายได้ เพราะ อบต. เป็นหน่วยงานราชการที่มี พรบ./กฎหมาย และระเบียบ รองรับบังคับใช้ หรือกำกับในการบริหารจัดการไม่ว่า อบต. อบจ. เทศบาล เป็นต้น                                
เมื่อเวลา 10.30 - 12.00 น. เสวนาเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างไร โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาดังนี้ นายสมปราชญ์ จงจิต ท้องถิ่นจังหวัดยะลา นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร นายอำเภอเมืองยะลา ดำเนินรายการโดย อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ โดยสรุปการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ ทุกสิ่งทุกอย่างทำแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เกิดประโยชน์ ความสมดุลทุกมิติ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ปลูกทดแทน และที่สำคัญต้องมีจิตสำนึกในการดำเนินชีวิตอยู่อย่างพอเพียง 
ในภาคบ่าย เสวนาต่อเรื่อง "กระบวนการเรียนรู้งบประมาณ อบต. พร่อน" โดยมีวิทยากรดังนี้ คุณรุสดี ยูโซ๊ะ รองนายก อบต. พร่อน คุณดวงดาว สุขจิตเกษม ปลัด อบต. พร่อน ดำเนินการโดย อ.รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล ได้สรุปว่า กระบวนการเรียนรู้หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พ.ศ.2550 มาตรา 285 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน อปท. ใดเห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นใดของ อปท.นั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้สิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ จำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ การตรวจสอบรายชื่อ การลงคะแนนเสียงให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ 
การมีส่วนร่วมของประชาชน มีส่วนร่วมได้ดังนี้ 1) การเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง คือ เข้าไปเป็นตัวแทน เสียสละตนเองเพื่อสังคม 2) สรรหาคนดี ส่งเสริม สนับสนุน ให้โอกาสคนดีเข้ามาบริหารองค์กร 3) ใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด 4) เสียภาษีต่างๆ เมื่อครบกำหนด เพื่อพัฒนาองค์กร และกลับสู่ชุมชน

ข้อเสนอแนะจากเวที มีดังนี้ 1) ควรให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการจัดเวทีประชาคม เข้ามามีส่วนร่วมแล้วประชาชนจะได้อะไร และถ้าไม่เข้าร่วมจะเสียผลประโยชน์อย่างไร 2) ประชาชนควรมีบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบร่วมกัน การแก้ไขปัญหา และหาแนวทาง เพื่อให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข (ดูภาพกิจกรรมเพิ่มเติม)    
    
ภาพกิจกรรมปิดเสวนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น