วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กิจกรรมรายงานความก้าวหน้าและปรับแผนการขับเคลื่อนโครงการสะพานฯ ระดับพื้นที่ ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา


วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมากรรมการประสานงาน คุณดอเล๊าะอาลี สาแม และคณะทำงานในพื้นที่ ต.พร่อน อ.เมือง จ. ยะลา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานโครงการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในพื้นที่ของ USAID ผ่านโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย ปีที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมจัดประชุมติดตามความก้าวหน้าและปรับแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและทันต่อเวลา โดยจัดประชุม ณ ห้องประชุมร้านยัสมีน อ.เมือง จ.ยะลา 

      ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีสมาชิกดำเนินงานในโครงการ ที่ปรึกษาการดำเนินงานในพื้นที่ คณะกรรมการดำเนินงานเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินกิจกรรมในระยะต่อไป ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นคณะกรรมการประสานงานโครงการสะพานฯ  อาจารย์พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์  คณะทำงานในพื้นที่  ร.ต.ต.กริยา ตระกูลศึกษา ที่ปรึกษาคณะทำงาน พร้อมนางศศิตา สุขขี ผู้จัดการโครงการ นางสาวพารีซัน หะ เจ้าหน้าที่การเงิน  โดยมีโครงการในพื้นที่ ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

ประกอบด้วย ได้แก่
1) โครงการการเรียนรู้งบประมาณองค์การบริหารตำบลพร่อน อ.เมือง จ.ยะลา โดยมีคุณอับดุลเลาะอาลี สาแม เป็นตัวแทนนำเสนอข้อมูล ซึ่งโครงการดำเนินการก้าวหน้าไปตามแผนการดำเนินงาน ซึ่งจะกำหนดการจัดกิจกรรมเวทีการคืนข้อมูลให้แก่ชุมชนให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 นี้ ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการนี้ที่สำคัญคือ ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลพร่อน ยังมีความกังวลในเรื่องการตรวจสอบการดำเนินงาน และอาจมองว่ากิจกรรมในโครงการนี้ เป็นการวางฐานทางการเมืองท้องถิ่นในโอกาสต่อไป

2) โครงการประเมินศักยภาพการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านพร่อน โรงเรียนตาสา และโรงเรียนจาหนัน ซึ่งนำเสนอโดยคุณปวีณา มะแซ หัวหน้าโครงการ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลคะแนนศักยภาพชุมชน ซึ่งปัญหาสำคัญคือ ชุมชนไม่ค่อยมีเวลาและบางส่วนยังไม่ให้ความร่วมมือ คณะกรรมการเสนอแนะให้ดำเนินงานเชิงรุก ใช้วิธีเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเก็บข้อมูลโดยสัมภาษณ์ด้วยการสร้างบรรยากาศให้เกิดความเป็นกันเอง

3) โครงการสร้างความเป็นพลเมืองและป้องกันมลภาวะทางอากาศและน้ำ นำเสนอโดยคุณรุสดี ยูโซ๊ะ หัวหน้าโครงการ ซึ่งการดำเนินงานในโครงการสามารถดำเนินงานได้ตามแผน ชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามคณะกรรมการให้ข้อเสนอแนะว่า ไม่ควรเจาะจงหรือพุ่งเป้าไปที่โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อย่างเดียว ควรศึกษาบริบทในพื้นที่ว่าผลกระทบมลพิษทางน้ำและอากาศ อาจเกิดจากสาเหตุในชุมชนเองก็ได้ เช่น การใช้สารเคมีในพื้นที่ทำนา การเผาขยะ มลพิษทางอากาศจากการเผาป่า เป็นต้น

     สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม สรุปได้ดังนี้

    1) เมื่อโครงการต่างๆ เสร็จสิ้น จะต้องสรุปผลการศึกษาตามรูปแบบรายงานที่โครงการสะพานฯ กำหนดให้  โดยประเด็นที่สำคัญคือ ในการจัดเวทีคืนข้อมูลให้แก่ชุมชน น่าจะมีกิจกรรมการทำสัญญาใจพลเมือง ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ กำหนดประเด็นในการดำเนินงานร่วมกันในปีต่อไป และมีการติดตามประเมินผลเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่
   2) การคืนข้อมูลหรือองค์ความรู้ให้ชุมชน แต่ละโครงการอาจนำเสนอในรูปแบบป้ายไวนิล แผ่นพับ หรือเอกสารที่ให้ความรู้แก่ชุมชน ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
   3) การจัดเวทีคืนข้อมูลให้แก่ชุมชน น่าจะดำเนินการทำสัญญาใจพลเมืองไปพร้อมกัน โดยเน้นประเด็นปัญหาสำคัญๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ให้บริการ (หน่วยงานของรัฐ) กับให้ใช้บริการ (ประชาชนในพื้นที่)
   4) การดำเนินงานตามโครงการในพื้นที่ จะต้องไม่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจและร่วมกันพัฒนาให้ดีขึ้น โดยอาศัยสัญญาใจพลเมืองเป็นเครื่องมือ
   5) ข้อเสนอแนะในประเด็นอื่นๆ เช่น การเสนอความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการที่ปรึกษา (Advisory Board) น่าจะให้โอกาสคณะกรรมการทำงานในพื้นที่มีโอกาสเข้าร่วมรับฟัง นอกเหนือจากหัวหน้าโครงการ ทั้งนี้เพื่อสร้างประสบการณ์ให้แก่คณะกรรมการท่านอื่นๆ  การจัดเวทีปิดโครงการ น่าจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะเป็นงานเปิดลงทะเบียนทั่วไป ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ผลงานการดำเนินงานของโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น