วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จัดเวทีคัดเลือกประเด็นปัญหาตำบลพร่อน


วันพฤหัสบดี ที่ 24 ต.ค. 56 เวลา 09.00 - 13.00 น. ทางคณะทำงานในพื้นที่ตำบลพร่อน ได้มีการจัดเวทีคัดเลือกประเด็นปัญหา ณ โรงเรียนมุสลิมศึกษา ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา มีจำนวนผู้เข้าร่วม 60 คน ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ ประชาชนให้ความร่วมมือ ร่วมแสดงความคิดเห็น ถอดบทเรียน และสะท้อนถึงปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน


ผู้ดำเนินการประชุม นายดอเล๊าะอาลี สาแม ประธานคณะทำงานในพื้นที่ตำบลพร่อน ชี้แจงหัวข้อเรื่องประเด็นปัญหา 7 ด้านด้วยกัน คือ ด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพสิ้น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ถนน ประปา ฯลฯ) ประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเกี่ยวกับพลเมือง ธรรมาภิบาล และประชาธิปไตย หรือประเด็นที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่สำคัญคือ ต้องการให้ประชาชนเป็นพลเมือง มีจิตสำนึกประชาธิปไตย มีส่วนร่วม เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้ตำบลมีความเข้มแข็งด้วยพลังพลเมืองของประชาชน และสามารถบริหารจัดการตนเอง

งบประมาณสนับสนุน
ตำบลพร่อน มี 3 กิจกรรมด้วยกัน คือ 1 เยาวชน 70,000 บาท และ 2 กิจกรรมของประชาชน กิจกรรมละ 130,000 บาท รวมเป็นเงิน 330,000 บาท โครงการจะดำเนินการระหว่างเดือน พ.ย. 56 - ม.ค. 57 ประมาณ 3 เดือน และปิดโครงการในเดือน ก.พ. 57





ประเด็นที่ประชาชนสนใจเรื่อง ด้านการศึกษาด้านสาธารณสุข และด้านสาธารณูปโภค การถอดบทเรียนของประชาชนสามารถแจกแจงปัญหาต่าง ๆ ได้ดังนี้ ด้านการศึกษา คือ คุณภาพทางการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ นักเรียนที่จบการศึกษาระดับประถมอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และเป็นปัญหาในการต่อยอดทางการศึกษาระดับที่สูงขึ้น ด้านสาธารณสุข 1. มลภาวะทางเสียง อากาศ น้ำ และทางบก 2. การดูแลผู้สูงอายุ 3. ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย 4. การทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง 5. การระบาดของโรคติดต่อ และ 6. การถมที่และสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ ในส่วนด้านสาธารณูปโภค 1. น้ำประปาไหลไม่สม่ำเสมอ ค่าน้ำแพง น้ำขุ่นมีตะกอน ระบบการบริหารจัดการไม่ดี พื้นที่ขาดแคลนน้ำ บางพื้นที่น้ำแดง 2. ไฟฟ้า แสงสว่างไม่ทั่งถึง และ 3. ถนน ไม่ได้มาตรฐาน ถนน คสล.ขาดการซ่อมแซม การบรรทุกเกินน้ำหนัก ขาดการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ถนนตาสาและจันเรียน ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

การคัดเลือกประเด็นปัญหา ได้ข้อสรุปดังนี้ ประชาชน 2 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสาธารณูปโภค สำหรับเยาวชน 1 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ทั้ง 3 ด้านข้างต้น ได้รับการยอมรับจากเวทีคัดเลือกประเด็นในพื้นที่ตำบลพร่อน    


วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชุมคณะทำงานระดับตำบลพร่อน ครั้งที่ 2

เมื่อวันอังคาร ที่ 22 ต.ค.56 ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานระดับตำบลพร่อน ประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน คณะทำงานระดับตำบล 26 ท่าน ประกอบด้วย คณะทำงาน ที่ปรึกษา ซึ่งมาจากองค์กรหลายหน่วยงาน ดังนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาองค์กรชุมชน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ชมรมผู้นำศาสนา สวัสดิการสือรีกัตมาตี (ฌาปนกิจ) ครูสอนศาสนา ชมรม อสม. ชมรมผู้สูงอายุ คณะกรรมการที่อยู่อาศัย ผู้อำนวยการโรงเรียน กลุ่มนาปรัง ผู้นำเยาวชน และฝ่ายการปกครอง
ประเด็นสำคัญโดยสรุป
              ผอ.โรงเรียน อบต. เทศบาล รพ.สต. องค์กรที่อยู่ภายในชุมชน พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เพื่อพัฒนาการบริการขององค์กรสู่ความเป็นเลิศ ประชาชนได้รับความพึงพอใจและประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐให้มากที่สุด
ข้อเสนอแนะประเด็นข้างต้น
             -  การทำโครงการส่วนใหญ่เน้นหน่วยงานภาครัฐ เช่น โรงเรียน อบต. เทศบาล รพ.สต. เป็นต้น
             -  ควรเน้นองค์กรศาสนา องค์กรต่างๆ ที่อยู่ภายในชุมชน                                  
             -  ประเด็นที่เป็นปัญหานำไปสู่เวที พูดคุย แลกเปลี่ยน และหาแนวทางร่วมกัน
ข้อสังเกต
             -  โครงการไม่ต่อเนื่อง
             -  โครงการเน้นการค้นหาจุดด้อย มากกว่าจุดเด่น
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
             -  เป้าหมายโครงการต้องชัดเจน 
             -  ส่งเอกสารรายงานกับหน่วยงานที่จัดทำโครงการ
             -  มีแผนกิจกรรมดำเนินงานทุกขั้นตอน 
             -  ไม่สร้างภาระให้กับหน่วยงานที่ร่วมโครงการ 
ภาพประกอบการประชุม                                  

กล่าวต้อนรับโดยนายกอบต.พร่อน
ผู้ดำเนินการประชุม
โดย นายดอเล๊าะอาลี  สาแม
อธิบายและทำความเข้าใจโครงการ
โดย อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์
ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ผู้เข้าร่วมรับฝังการนำเสนอโครงการ

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชุมคณะทำงาน ตำบลท่าสาป ครั้งที่ 2

เมื่อวันศุกร์ ที่ 11 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานในพื้นที่ตำบลท่าสาป มีกิจกรรมการประชุม เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่ โดยได้รับเกียรติจากนายกเทศมนตรีตำบลท่าสาป นายมสดี หะยีปิ กล่าวต้อนรับ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการ เจ้าหน้าที่โครงการ คณะทำงาน และผู้เข้าร่วม ท่านมีความรู้สึกยินดีที่ทางโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้รับเลือกพื้นที่ตำบลท่าสาป และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ร่วมดำเนินงาน เพื่อนำการพัฒนาสู่ตำบลท่าสาปต่อไป
ดำเนินกิจกรรม โดย อ.รอซีดี เลิศอริยพงษ์กุล ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการสะพาน ปี 3 และแนะนำตัวคณะทำงาน ผู้ที่เกี่ยวข้อง สร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อการดำเนินงานกิจกรรมบรรลุเป้าหมาย
อ.พงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ ได้อธิบายกิจกรรมและเครื่องมือในการดำเนินงานโครงการ ได้แก่ บัตรศักยภาพชุมชน การเรียนรู้งบประมาณ การตรวจสอบงบประมาณ เครื่องมือที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ เพื่อนำไปใช้กับหน่วยงานที่ทำโครงการ เช่น อบต. เทศบาล โรงเรียน โรงพยาบาลเพื่อสุขภาพตำบล ในส่วนของเยาวชนอาจใช้สื่อ เช่น Facebook youtube เป็นต้น
นายดอเล๊าะอา สาแม ได้ถ่ายทอดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ปัญหาของโรงเรียนบ้านพร่อน คือ เด็กนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จึงใช้เครื่องมือบัตรคะแนนศักยภาพชุมชนสอบถาม ผู้ปกครอง ผอ. และครู ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กนักเรียน เพื่อแก้ไขปัญหา สร้างความเข้าใจระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง และยกระดับการศึกษาให้ดีขึ้น
คำถามจากพื้นที่ ถามว่าโครงการที่เป็นการสร้างจิตสำนึกของเด็กทำได้ไหม ดร.บุญสิทธิ ไชยชนะ ตอบคำถามจากพื้นที่ว่า โครงการที่เป็นการแก้ไขปัญหาเชิงบวกสามารถทำได้ การมีส่วนร่วม การสร้างจิตสำนึกพลังพลเมือง ประชาธิปไตย เป็นต้น
กิจกรรมที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ คือ 
     - ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจคณะทำงานระดับตำบล ในวันอังคาร ที่ 22 ต.ค.56 เวลา 13.30 น.        ณ ห้องประชุม อบต.พร่อน
     - ประชุมผู้แทนกลุ่มที่ขอรับทุน ในวันเสาร์ ที่ 26 ต.ค.56 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม อบต.พร่อน
     - ประชุมระบุประเด็นปัญหา ในวันจันทร ที่ 28 ต.ค.56 เวลา 09.00-16.00 น. ณ โรงเรียนบ้านท่าสาป จำนวนผู้เข้าร่วม ประมาณ 70-80 คน

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชุมคณะทำงานในพื้นที่ [DIT]


วันพฤหัสบดี ที่ 3 ตุลาคม 2556 เวลา 09.00 - 12.00 น. ประชุมคณะทำงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย ปี 3 โดย ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ ดร.ศิริชัย นามบุรี เจ้าหน้าโครงการ และคณะทำงานในพื้นที่ เพื่อชี้แจงงบประมาณการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ทั้ง 2 พื้นที่ คือ พร่อน และท่าสาป เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันและการบริหารจัดการงบประมาณ


ดร.บุญสิทธิ์ มอบหมายให้กับคณะทำงานในพื้นที่กำหนดแผนกิจกรรม และการขับเคลื่อนกิจกรรม โดยกำหนดขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 หาคนทำงานร่วมกัน หาประเด็น หาปัญหา อาจจะเป็นการจัดเวที ขั้นตอนที่ 2 คิดเครื่องมือที่ใช้ในพื้นที่ และขั้นตอนที่ 3 กิจกรรมที่จะดำเนินการ ระหว่างเดือน พฤศจิกายน 56 - มกราคม 57 ปิดโครงการไม่เกิน กุมภาพันธ์ 57  


มติที่ประชุม มีมติให้นายดอเลาะอาลี  สาแม เปลี่ยนตำแหน่งจากดัชนีธรรมาภิบาล เป็นผู้รับทุนในพื้นที่ เพราะว่า นายดอเลาะอาลี เป็นบุคคลสำคัญในพื้นที่และได้รับความไว้ใจจากชุมชน เพื่อให้ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ให้ลุล่วงด้วยดี

ดร.บุญสิทธิ ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่สำนักงานโครงการสะพาน เรื่อง การอำนวยความสะดวกที่สุด ประสานงานพื้นที่ใกล้ชิดกว่านี้ เป็นคนกลางระหว่างพื้นที่กับสะพาน สามารถตอบคำถามทุกคำถาม

ประเด็นเพิ่มเติม การประชุมต้องมีหลายภาคี เช่น ประชาชน เยาวชน แกนนำ กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง
จะจัดพร้อมกันหรือแยกกลุ่มก็ได้ ในส่วนรายชื่อคณะทำงาน ต้องไปหารือคณะทำงาน เพื่อสร้างโครงการ โดยทำความเข้าใจว่ามีกี่โครงการ กี่กลุ่ม กิจกรรม มี 3 กลุ่ม คือ ประชาชน 2 กลุ่ม และ เยาวชน 1 กลุ่ม จะต้องหารือในพื้นที่ คิดโครงการ เห็นชอบแล้วเสนอต่อโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาภายในเดือนตุลาคมนี้

ประชุมร่วมกับภาคีพัฒนาอื่นๆ

วันที่ 2 ตุลาคม 2556 เวลา 09.00 - 12.00 น.
           ดร.บุญสิทธ์  ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการสะพาน และนายริดวาน  ดาหะมิ เจ้าหน้าที่โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงแรมซี.เอส ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
           ภาคีพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าร่วมมีดังนี้  มูลนิธิศักยภาพชุมชน, ปัตตานี Forum, วิทยุสลาตัน, สมาคมเด็กชายแดนใต้, สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ, S.T มีเดีย, และวิทยาลัยประชาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมาพูดคุยแลกเปลี่ยน เรียนรู้ถึงโอกาส สิ่งท้ายทายในการทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความสันติสุขต่อไป