วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เล่าเรื่องกิจกรรมแลกเปลียนเรียนรู้และศึกษาดูงานโครงการสะพานฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 16-20 ธันวาคม 2555

     คณะกรรมการดำเนินงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เดินทางไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนกิจกรรมและการดำเนินงานประจำปี 2555 กับเครือข่ายโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างวันที่ 16-20 ธันวาคม  2555  ที่ผ่านมา จำนวน 10 คน นำทีมโดย ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองหัวหน้าโครงการสะพานฯ สมาชิกคณะทำงานในโครงการ ประกอบด้วย ดร.ศิริชัย นามบุรี  ดร.ตายุดิน อุสมาน คุณพงษ์พันธ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์  คุณวรรณกนก เปาะอีแตดาโอะ คุณกริยา ตระกูลศึกษา คุณดนยา สะแลแม  อ.อานิส พัฒนาปรีชาวงศ์ (มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์) คุณวาริษา วาแม และคุณมะดาโอะ สะเตงกูแว  การศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคณะกรรมการดำเนินงานโครงการสะพาน จึงนำมาเล่าเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่กันฟัง
       วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม 2555  เวลา 12.15 น. คณะศึกษาดูงานออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา  ถึงสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เวลาประมาณ 13.45 น. และออกเดินทางจากสุวรรณภูมิเวลา 14.15 น. ถึงสนามบินขอนแก่นเวลา  15.50 น.  [ประมวลภาพเพิ่มเติม...]


      วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2555  เวลา 09.00-12.00 น. คณะศึกษาดูงานร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะทำงานโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ห้องประชุมคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง หัวหน้าโครงการสะพานฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ ดร.สถาพร เริงธรรม  ให้เกียรติต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งได้มีโอกาสเยี่ยมกลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน-Research Group on Wellbeing Sustainable Development: WeSD ( http://www.wesd.net)  จากนั้น เวลา 13.30 น. คณะศึกษาดูงานเดินทางสู่  อ.ลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่และกิจกรรมของกลุ่มทำงานภาคประชาสังคมของชมรมสตรีฟื้นฟูวัฒนธรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น (ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาบัตรคะแนนศักยภาพชุมชน) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อสู่ด้านการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชนซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ที่น่าสนใจคือการมีผู้นำกลุ่มโดยสตรี จึงทำให้การเจรจากับภาครัฐลดความขัดแย้งและความรุนแรงได้  หลังจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติโคกหินขาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่รวมตัวกันรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยการต่อต้านการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันในพื้นที่ ซึ่งได้เห็นแนวทางการต่อสู่เพื่อการอนุรักษ์ของชุมชนและเป็นตัวอย่างที่ดี  และคณะศึกษาดูงานเดินทางกลับที่พักเวลา 16.30 น.
    วันอังคารที่ 18 ธันวาคม 2555 เวลา 08.30 น. เดินทางศึกษาดูงานศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคกิจการโทรคมนาคม อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการสะพานฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำบัตรคะแนนศักยภาพชุมชน โรงพยายาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน ต.เหนือ จ.กาฬสินธุ์ จากนั้น คณะศึกษาดูงานเดินทางไปศึกษาความรู้เกี่ยวไดโนเสาร์ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร (ภูกุ้มข้าว) ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  (http://www.sdm.dmr.go.th/main.htm)  จากนั้นเวลา 13.00 น. เดินทางไปศึกษาดูงานในพื้นที่ของสภาองค์กรชุมชน ต.หนองตอกแป้ง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เพื่อศึกษาดูงานกลุ่มดำเนินงานด้านการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรที่ต่อต้านการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในด้านการเป็นแนวปฏิบัติที่ดี ได้รับทุนสนับสนุนในกลุ่มการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning)
    วันพุธที่ 19 ธันวาคม 2555 เวลา 09.00 น. เดินทางศึกษาดูงานการดำเนินงานของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ต.โคกสง่า อ.พล จ.ขอนแก่น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการที่ดินทำกิน และการบริหารจัดการแบบธรรมาภิบาลของเทศบาลตำบลโคกสง่า และเดินทางกลับที่พักเวลา 14.00 น. จากนั้นคณะศึกษาดูงานได้เยี่ยมชมตัวเมืองขอนแก่น ศึกษาดูงานกลุ่มสินค้า OTOP ของจังหวัดขอนแก่น
    วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2555 เวลา 08.45 น. คณะศึกษาดูงานออกเดินทางกลับจากสนามบินขอนแก่นสู่สนามบินนานาชาติ สุวรรณภูมิ และเดินทางจากสุวรรณภูมิถึงสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ เวลา 14.45 น.
 
    บทสรุปจากการศึกษาดูงานและร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีการเรียนรู้ร่วมกันของโครงการสะพานฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาครั้งนี้ นับเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างภูมิภาคที่อาจมีปัญหาและบริบทที่แตกต่างกัน ทำให้คณะศึกษาดูงานได้รับความรู้ มุมมอง แนวคิด และประสบการณ์ในการดำเนินงานมากมาย ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ว่าประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ของไทยทั่วประเทศ ต่างมีปัญหาในชุมชนที่แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ แต่ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน ก็คือประเด็นของการบริหารจัดการของภาครัฐ ที่ขาดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ แต่อย่างไรก็ตาม ในทุก ๆ กลุ่มที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เห็นตรงกันว่าภาคประชาสังคมหรือสมาชิกชุมชน ต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับกลุ่ม เช่น สภาองค์กรชุมชน เพื่อร่วมกันในการบริหารจัดการตนเองและต่อรองกับภาครัฐ การรอคอยและหวังความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืนของชุมชนอีกต่อไป [ประมวลภาพเพิ่มเติม...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น